วันอังคารที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2562

ลาวใต้...บนเส้นทางที่ราบสูงบอละเวน...ถึงเมืองจำปาสัก





ในบรรดาแขวงต่างๆ ของลาวใต้ต้องยกให้แขวงจำปาสักเป็นแขวงที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวสูงสุด ทั้งจากชาวไทยและชาวต่างชาติ

เพราะด้วยภูมิศาสตร์ที่หลากหลายของป่าใหญ่บนภูเขาสูง และที่ราบสูงลุ่มริมแม่น้ำโขง มีแม่น้ำสายสำคัญอย่างแม่น้ำโขงไหลผ่านกลางแขวง ซึ่งอยู่ติดกับพรมแดนที่ช่องเม็ก จังหวัดอุบลราชธานี และเป็นแขวงที่สามารถขออนุญาตนำรถยนต์ส่วนตัวข้ามไปเที่ยวได้ ทริปลาวใต้ครั้งนี้ผมจึงขับรถยนต์ข้ามแดน เข้าไปเที่ยวได้อย่างสะดวกสบาย





ปากเซ...เมืองหลวง ของแขวงจำปาสัก ประตูสู่ลาวใต้ ผมเริ่มต้นที่ด่านชายแดนช่องเม็ก ในอำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี ผมทำเรื่องผ่านแดน ประทับตราในพาสปอร์ตทั้งของตัวเองและรถยนต์เรียบร้อย ผมขับรถเปลี่ยนเลนมาวิ่งเลนขวา ผ่านด่านวังเต่าชายแดนลาว มุ่งหน้าสู่เมืองปากเซ บนทางหลวงหมายเลข 10 ซึ่งเป็นถนนลาดยางอย่างดี จากด่านวังเต่าถึงปากเซ ระยะทางประมาณ 42 กิโลเมตร ใช้เวลาในการเดินทางราว 1 ชั่วโมง



สถานที่ท่องเที่ยวในตัวเมืองปากเซมีอยู่มากมาย อาทิ วังเจ้าบุญอุ้ม ซึ่งเคยเป็นที่ประทับของเจ้าบุญอุ้ม ณ จำปาสัก ผู้ครองนครองค์สุดท้าย ก่อนที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองไปเป็นระบอบสังคมนิยม...วัดถ้ำไฟ หรือที่ชาวบ้านเรียกวัดพระพุทธบาท เนื่องจากในพระอุโบสถ มีรอยพระพุทธบาทประดิษฐานอยู่

ผมเลือกเดินจากโรงแรมที่พัก ไปเที่ยว ‘วัดหลวง’ ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำเซโดน นับเป็นวัดเก่าแก่ที่มีความสำคัญในเมืองปากเซ เพราะเป็นสถานที่เก็บอัฐิของราชวงศ์สายจำปาสักหลายพระองค์ รวมทั้งอัฐิของท่านกระต่าย โดนสะโลลิต อดีตนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลฝ่ายอนุรักษนิยม จุดเด่นน่าชมของวัดแห่งนี้อยู่ที่บานประตูและหน้าต่างของพระอุโบสถ ซึ่งแกะสลักด้วยไม้ลวดลายสวยงาม และในวัดยังมีอาคารเก่าแก่ที่ใช้เป็นหอสมุดและสำนักงานของครู








ยามเช้า ผมเดินผ่านวัดหลวงไปเก็บภาพที่ตลาดเก่า ที่ตั้งอยู่บริเวณใจกลางเมือง แม้ปัจจุบันจะมีการเปิดตลาดใหม่ขึ้นบริเวณก่อนถึงสะพานมิตรภาพลาว-ญี่ปุ่น แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ก็ยังนิยมมาจับจ่ายใช้สอยกันที่ตลาดเก่า เพราะตั้งอยู่ใจกลางเมือง ชาวบ้านจะนำสินค้าพวกผ้าทอพื้นบ้าน เครื่องอุปโภค บริโภค ตลอดจนผักผลไม้มาวางขายในราคาย่อมเยา ซึ่งส่วนใหญ่นำเข้ามาจากประเทศไทย




























บรรยากาศตลาดเช้าปากเซ (ตลาดเก่า)

หลังจากเที่ยวชมตัวเมืองปากเซแล้ว ผมขับรถออกนอกเมือง เปลี่ยนบรรยากาศมาชื่นชมความสวยงามของน้ำตกต่างๆ ที่อยู่นอกตัวเมืองกันบ้าง ผมเดินทางไปที่น้ำตกตาดฟาน ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นน้ำตกที่สูงที่สุดในแขวงจำปาสัก















การค้าขาย บนเส้นทางหมายเลข 23 ปากเซ-บอละเวน

ขับรถไปตามเส้นทางหมายเลข 23 เส้นทางไปปากซอง ขึ้นสู่ที่ราบสูงบอละเวน ที่ราบสูงแห่งการท่องเที่ยวของลาวใต้อย่างแท้จริง ข้างบนมีอากาศหนาวเย็น สายหมอกห่มคลุมแม้ในหน้าร้อน มีน้ำตกสวยๆ นับสิบแห่ง มีเผ่าลาวเทิงหน้าตาแปลกๆ หลายเผ่าพันธุ์ มีผลไม้หลากหลายเลิศรส และที่สำคัญ มีไร่กาแฟคุณภาพดีส่งออกไปได้ทั่วโลก ไม่อายใคร ผมขับรถผ่านหลายหมู่บ้านจนมาถึงหลักกิโลเมตรที่ 38 ก่อนเลี้ยวเข้าตรงบริเวณแยกขวามือข้างหน้า





ร้านค้าบริเวณหน้าน้ำตกตาดฟาน

ตาดฟาน...เป็นน้ำตกที่สูงที่สุดในแขวงจำปาสัก เรียกอีกชื่อว่า ‘น้ำตกดงหัวสาว’ จุดเด่นอยู่ตรงสายน้ำสองสายที่ไหลลงมาจากหน้าผาสูงราว 120 เมตร โดยสายน้ำทางซ้ายมือไหลมาจากห้วยผักกูด และทางขวามือเป็นสายน้ำที่ไหลมาจากเขตอุทยานแห่งชาติดงหัวสาว มีจุดชมวิวที่ตั้งอยู่คนละฟากเขาของตัวน้ำตก ในระดับความสูงเท่าๆ กัน มองจากตรงนี้สามารถชมวิวตัวน้ำตกจากมุมสูงได้อย่างชัดเจน


น้ำตกตาดฟาน

ผมมีโอกาสสัมผัสความยิ่งใหญ่ของน้ำตกแห่งนี้ด้วยความตื่นเต้น เพราะที่นี่มีจุดเล่นซิปไลน์ข้ามหน้าผาของน้ำตกที่ยิ่งใหญ่และสวยงาม ทริปนี้ผมตั้งใจจะไปชมน้ำตกตาดเยื้องและน้ำตกตาดส้วมต่อ แต่ฝนดันตกลงมา เลยทำให้ผมพลาดโอกาสไปชมความสวยงามของน้ำตกที่กระจายตัวอยู่บนที่ราบสูงบอละเวน แขวงจำปาสัก แห่งนี้เลยครับ


เที่ยวเมืองจำปาสัก...ปราสาทวัดพู


ก่อนเดินทางกลับเข้าสู่ประเทศไทย ผมไม่ลืมที่จะแวะเข้าไปท่องเที่ยวที่ ‘เมืองจำปาสัก’ เมืองที่เคยเป็นศูนย์กลางการปกครองของแขวง และเป็นที่ประทับของราชวงศ์ในสมัยก่อน





ระหว่างทางมุ่งหน้าสู่ปราสาทวัดพู แขวงจำปาสัก

ห่างออกไปจากเมืองจำปาสักประมาณ 10 กิโลเมตร...เป็นที่ตั้งของปราสาทวัดพู มรดกโลกของลาวใต้ ในอดีตปราสาทวัดพูเคยเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของแหล่งอารยธรรมโบราณถึง 3 สมัยด้วยกันคือ อาณาจักรเจนละ อาณาจักรขอม และสุดท้ายอาณาจักรล้านช้าง



ปราสาทวัดพูถือได้ว่าเป็นปราสาทเขมรที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศลาว โบราณสถานแห่งนี้มีประวัติย้อนไปได้ไกลถึงยุคแรกเริ่มก่อตั้งอาณาจักรกัมพูชาโบราณ และคงความสำคัญสืบมาในคตินิยมของชาวลาวอีกด้วย

ปราสาทวัดพูตั้งอยู่บริเวณเชิงภูเขาลูกใหญ่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำโขง ทางตอนใต้ของเมืองจำปาสัก ห่างจากเมืองปากเซประมาณ 30 กิโลเมตร ภูเขาซึ่งเป็นที่ตั้งของปราสาทวัดพู ชาวลาวนิยมเรียกชื่อว่า ‘ภูเกล้า’ สื่อความหมายถึงความเคารพประดุจยกไว้เหนือเศียรเกล้า ตัวปราสาทวัดพูหันหน้าไปทางทิศตะวันออก และวางแผนผังเป็นแนวยาวตามลักษณะของปราสาทเขมรที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่เป็นภูเขา อาจเทียบเคียงได้กับปราสาทเขาพระวิหารที่มีแผนผังคล้ายคลึงกัน

























ประสาทวัดพูแขวงจำปาสัก


แม้ว่าปราสาทวัดพูจะมีสภาพที่เก่าแก่ปรักหักพังตามกาลเวลา ไม่ได้ยิ่งใหญ่อลังการเท่าปราสาทนครวัดที่เป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลก แต่คุณค่าของโบราณสถานแห่งนี้ ในฐานะจุดกำเนิดอารยธรรมกัมพูชาสมัยเจนละผู้เป็นเจ้าของพื้นที่ในอดีต ต่อเนื่องมาจนกลายเป็นศูนย์รวมความศรัทธาในจิตใจของชาวลาวเจ้าของพื้นที่ในปัจจุบัน ก็ยิ่งใหญ่สมควรแก่การมาเยี่ยมเยือนสักครั้งหนึ่งในชีวิต ทั้งเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตัวเองและครอบครัว

#TiewZogZag #เที่ยวซอกแซกดอทคอม 

ไม่มีความคิดเห็น:

แกลอรี่รูปภาพTiewZogZag