ผมขับรถเลาะริมฝั่งแม่น้ำโขง จากจังหวัดนครพนมมุ่งหน้าสู่ จังหวัดบึงกาฬ จังหวัดน้องใหม่เป็นจังหวัด 77 ของประเทศที่มีธรรมชาติค่อนข้างสมบูรณ์ อยู่ติดแม่น้ำโขงแวดล้อมไปด้วยภูเขาและน้ำตกที่สวยงาม ทำให้มีแหล่งท่องเที่ยวมากมายอัดแน่นอยู่ทั้งที่เปิดตัวไปแล้ว และที่กำลังจะรอเปิดตัว การเดินทางในทริปนี้ ผมเลือกที่จะมาเที่ยว “ภูสิงห์” ของจังหวัดบึงกาฬ
คลิกชมคลิป "หินสามวาฬ ภูสิงห์"
ทำไม่ผมต้องเลือกไป...ภูสิงห์? เพราะที่นี่มีจุดชมวิวมากมาย มีหินทรายรูปร่างประหลาดแปลกตา...รอให้เราเข้าไปใช้จินตนาการว่า เอ...ก้อนนี้มันเหมือนตัวอะไรนะ
กำแพงหินภูสิงห์
ภูสิงห์ ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่อนุรักษ์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าดงดิบกะลา ป่าภูสิงห์ และป่าสีชมภู มีเนื้อที่ประมาณ 12,000 ไร่ สภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาหินทรายทอดตัวไปตามทิศเหนือจรดใต้ ครอบคลุมพื้นที่อำเภอศรีวิไลกับอำเภอเมืองบึงกาฬ ที่มีป่าไม้สภาพสมบูรณ์ ภูเขาหินทรายรูปร่างประหลาดมากมายบนภูสิงห์ เกิดจากการเรียงตัวใหม่ของชั้นหินในอดีต กลายเป็นหน้าผา ถ้ำ กลุ่มหินรูปทรงต่าง ๆ ลานหินที่กระจายอยู่ทั่ว สร้างความงดงามตามธรรมชาติ และบนภูสิงห์ ยังสามารถชมพระอาทิตย์ขึ้นและตกได้ที่ภูเดียว จึงเหมาะอย่างยิ่งที่จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อน และศึกษาเรียนรู้ธรรมชาติ
ผมจอดรถไว้ด้านล่าง แล้วเดินขึ้นไปลงทะเบียนกับเจ้าหน้าที่ พิทักษ์ป่าภูสิงห์...ทางเจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวนำรถขึ้นไปเอง เหตุด้วยเส้นทางที่คับแคบ ถ้าไม่ชำนาญทางอาจเกิดอันตรายได้...ที่นี่ มีรถกระบะโฟล์วีลคอยหมุนเวียนบริการทั้งไปและกลับในราคาคนละ 50 บาท หรือถ้าไปเที่ยวเป็นหมู่คณะจะเหมาจ่ายก็ได้ในราคาคันละ 500 บาท
จุดชมวิวถ้ำฤาษี
นั่งรถขึ้นมาไม่นาน ก็เจอกับวัดป่าภูสิงห์ ...ด้วยเวลาที่น้อยนิด เจ้าหน้าที่เลยไม่ได้พาแวะ ผมได้ยินมาว่าที่วัดแห่งนี้ มีลานธรรมภูสิงห์ เป็นลานธรรมที่สวยงามที่ใช้เป็นที่สวดมนต์ภาวนาและจัดกิจกรรมทางศาสนาเป็นประจำทุกปี
รถกระบะแทรกตัวเข้าสู่ถนนแคบ ๆ ที่เต็มไปด้วยเม็ดทรายละเอียดสีขาวนวล และฟุ้งกระจายส่องเป็นลำเมื่อต้องแสงแดดยามบ่าย... ผ่านป่าเบญจพรรณ ...ผ่านกลุ่มหินทรายรูปร่างประหลาดๆ หลากหลาย ผมนั่งหลังกระบะโขยกเขยกมาเรื่อย ๆ จนรถมาจอดให้ลงไปชม “สร้างร้อยบ่อ” ซึ่งเกิดจากความโหดร้ายของลมฟ้า แม้หินผายังเป็นรู
จุดชมวิวถ้ำฤาษี
“ส้าางร้อยบ่อ” คือก้อนหินริมหน้าผา ที่ผ่านการเซาะกร่อนของ ลม ฝน มาเป็นเวลานานจนเกิดหลุมน้อยใหญ่จำนวนมากพรุนไปหมด เป็นที่มาของ คำว่า “ส้างร้อยบ่อ” คำว่า "ส้าง" ในภาษาอีสานถ้าแปลเป็นภาษากลางก็คือ "บ่อน้ำ" แปลรวมๆก็คือ ..."บ่อน้ำร้อยบ่อ" อยู่ติดหน้าผาด้านตะวันตก ในฤดูฝนจะมีน้ำขัง ตอนผมไปเป็นหน้าแล้งเลยไม่มีน้ำขัง จุดตั้งอยู่บนหน้าผาด้านทิศตะวันตกของภูสิงห์ สามรถนั่งชมพระอาทิตย์ตกใกล้พลบค่ำได้อย่างสวยงาม
ส้างร้อยบ่อ
จุดชมวิวบ่อส้างร้อยบ่อ
นั่งรถไปต่ออีกนิด จะมองเห็นก้อนหินก้อนใหญ่ตะคุ้มๆ อยู่ทางด้านขวามือ มองดูคล้ายช้าง...จึงเป็นที่มาของคำว่า “หินช้าง” รถขยับต่อไปเรื่อย ๆ ก็เจอกับกำแพงหินธรรมชาติขนาดใหญ่ เป็นกำแพงหินสูง เกิดจากการเซาะกร่อนของลมและฝน ที่เรียงซ้อนกันเป็นลวดลายสวยงามสะดุดตา มีป้ายเขียนชื่อปักไว้ว่า...”กำแพงหินภูสิงห์”
กำแพงหินภูสิงห์
กลุ่มหินทรายอันวิจิตรสวยงามที่ธรรมชาติสร้างสรรค์ยังมีอีกมากมายอีกหนึ่งนั่นก็คือ “ประตูภูสิงห์” เป็นจุดที่มีหินใหญ่สองก้อนตั้งอยู่ริมหน้าผา ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับช่องเขา เมื่อเดินเข้าไปชมใกล้ ๆ บริเวณริมหน้าผาจะเห็นวิวของผืนป่าเขียวขจี อุดมสมบูรณ์ ราวกับเปิดบานประตูใหญ่ออกไปชมวิวสุดอลังการ
ประตูภูสิงห์
พระเอกของภูสิงห์ ต้องยกให้ “หินสามวาฬ” ซึ่งเป็นหินขนาดใหญ่ยื่นออกไปจากหน้าผาสูงขนานกันสามก้อน มองไกล ๆ มีรูปร่างยาว ๆ มน ๆ คล้ายวาฬ พ่อ แม่ ลูก กำลังแหวกว่ายน้ำ ออกสู่ท้องทะเลกว้าง เลยเรียกกันว่า “หินสามวาฬ”
หลังจากรถจอดก่อนเดินเข้าสู่หินสามวาฬ ตรงจุดนี้คือ “จุดชมวิวถ้ำฤาษี” อยู่ด้านตะวันออกของภูสิงห์ จุดนี้จะเป็นก้อนหินขนาดใหญ่ติดหน้าผาสูง มองเห็นวิวกว้าง สวยงาม มองเห็นทัศนียภาพของป่าภูวัว ภูทอกใหญ่ เห็นแม่น้ำโขง แก่งสะดอก หาดทรายแม่น้ำโขง และภูเขาเมืองปากกระดิ่ง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
จุดชมวิว"หินช้าง"
“หินสามวาฬ” เป็นจุดชมวิวได้อย่างสวยงาม สมกับที่เขาว่า “หินยักษ์มหัศจรรย์แห่งเดียวของไทย” และยังเป็นตำแหน่งชมพระอาทิตย์ขึ้นยามเช้าที่ทุกคนต้องมาชมความอลังการของทิวทัศน์กว้างไกลสุดสายตา ทั้งฝืนฟ้าและแผ่นดิน เบื้องล่างสามารถมองเห็นตั้งแต่ผืนป่าภูวัว ห้วยบังบาตร แก่งสะดอก หาดทรายแม่น้ำโขง ยันภูเขาเมืองปากกระดิ่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
เส้นทางเดินไป "หินสามวาฬ"
“หินสามวาฬ” หินยักษ์มหัศจรรย์แห่งเดียวของไทย
บึงกาฬนับเป็นจังหวัดน้องใหม่และมีที่เที่ยวใหม่ ๆ อันน่าประทับใจ สำหรับผมและอีกหลายๆคนที่ได้ไปสัมผัส...แต่ ถึงอย่างไรก็ไม่มีอะไรจะน่าประทับใจเท่ากับ “ความจริงตามธรรมชาติ” ที่ต้องเดินทางออกจากบ้านไปสัมผัสด้วยตัวเอง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น