วันพฤหัสบดีที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2561

สายสัมพันธ์กตัญญู...ลูกหลานจีนโพ้นทะเล


ผมมองลงไปจากช่องหน้าต่างของเครื่องบินโบอิ้งลำโต ก่อนที่ล้อจะแตะรันเวย์ ท่าอากาศยานนานาชาติเซี่ยะเหมินเกาฉี หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า “สนามบินเซี่ยะเหมิน”  ภาพตึกสูงเป็นระเบียบสวยงามตามแนวชายหาดเบื้องล่าง ทำให้ผมคิดไกลไปว่า จีน ซึ่งได้ชื่อว่ามีพลเมืองมากมายมหาศาล และบางส่วนก็กระจัดกระจายออกไปอยู่นอกประเทศ หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า "ชาวจีนโพ้นทะเล"  มีพลังขับเคลื่อนหรือแรงผลักดันอะไร จึงทำให้ก้าวสู่ความยิ่งใหญ่เฉกเช่นทุกวันนี้ได้

คำว่า "จีนโพ้นทะเล" ผมพึ่งเข้าใจจากการเดินทางในทริปนี้ นี่เอง ...พวกเขาคือชาวจีนนอกบ้านเกิดเมืองนอนอันไกลโพ้น แต่ยังมีจิตใจผูกพันเมืองแม่ ทั้งในเชิงการเมือง วัฒนธรรม และความรู้สึก มีชาวจีนหลายคนยังคงเรียกตัวเองว่า "จีนโพ้นทะเล"ด้วยความภาคภูมิใจ เพราะอาจจะเป็นเครื่องเตือนใจว่าพวกเขายังคงเป็นสมาชิกของครอบครัวใหญ่ คือประเทศจีนอันเกรียงไกร

"หากชาวจีนโพ้นทะเลผูกพันกับแผ่นดินเกิดถึงเพียงนี้ แล้วแรงผลักดันอะไรที่ทำให้พวกเขายอมละทิ้งครอบครัวและสุสานบรรพบุรุษ ออกเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลไปตั้งรกรากในแดนไกล"...นั่นคือคำถามในใจผมที่จะต้องกลับไปศึกษาประวัติศาสตร์การอพยพของชาวจีนอีกครั้ง

โลกทัศน์ของชาวจีนถือว่าความกตัญญูคือสุดยอดของคุณธรรมทั้งมวล และหาได้จำกัดอยู่แต่เพียงกตัญญูต่อบุพการีเท่านั้น แต่กินความกว้างไปถึงความกตัญญูต่อธรรมชาติและสังคมที่ตนเองได้พึ่งพาอาศัยอีกด้วย

ในฐานะสื่อมวลชนคนหนึ่ง ผมมีโอกาส เดินทางร่วมทริปกับลูกหลานมังกรจีนโพ้นทะเล สกุล "สีบุญเรือง"  พร้อมกับ คณะนักธุรกิจหนานจิ้งประเทศไทย และสมาพันธ์ชาวหนานจิ้งประเทศไทย รวมแล้วกว่า 90 ชีวิต เพื่อ "เปิดเส้นทางธุรกิจ วัฒนธรรมและการท่องเที่ยวมณฑลฝูเจี้ยน" (เซี่ยะเหมิน-จางโจว-บ้านดินหนานจิ้ง) นำโดย ดร.อรรชกา สีบุญเรือง นายกสมาคมกิตติมศักดิ์และ คุณ ฉฏา สีบุญเรือง นายกสมาคมนักธุรกิจหนานจิ้ง




ร่วมเชิดชูเกียรติยกเสามังกร ทายาทตระกูลเซียว ดร.อรรชกา สีบุญเรือง


ที่ตำบลซูหยาง อำเภอหนานจิ้ง 
"หลัวกู่" กลองพื้นบ้านทั้งเล็ก ใหญ่ ถูกตีรัวเป็นจังหวะเร้าใจ ประสานเสียงฉาบฉิ่ง และผ่างฮาด(ฆ้องจีน) เพื่อต้อนรับคณะนักธุรกิจหนานจิ้งประเทศไทย สมาพันธ์ชาวหนานจิ้งประเทศไทย ทายาทตระกูลเซียว (สีบุญเรือง)   และสื่อมวลชน 

พวกเรารวมตัวกันในศาลาว่าการเมืองหรือ town hall เพื่อรอร่วมพิธียกเสามังกร ที่ ศาลบรรพชนตระกูลเซียว ที่ตั้งอยู่ไม่ไกล ก่อนงานจะเริ่มพวกเราได้รับแจกดอกกุหลาบที่ประดิษฐ์ด้วยผ้าสีแดงสดสำหรับติดหน้าอก  มีก้านใบและโบว์สีทอง แผ่นป้ายพื้นสีแดงตัวหนังสือจีนสีเหลือง ซึ่งมีความหมายประมาณว่าพวกเราเป็นแขกของ ตระกูลเซียว

เสียงเครื่องดนตรีจีนหลากหลายชนิด นำโดยหลัวกู่ ผ่างฮาดฯลฯ กระหึ่มดังขึ้นอีกครั้ง มังกรทอง สิงห์โต  เหลืองแดงถูกเชิด กระโดดโลดเต้นวิ่งนำไปตามถนนหน้า town hall มุ่งตรงไปยังศาลบรรพบุรุษ ตระกูลเซียว ที่ตั้งห่างออกไปประมาณ 500 เมตร









หลู่กัวและผ่างฮาด บรรเลงรัว นำขบวน ดร.อรรชกา สีบุญเรือง ไปยังศาลบรรพบุรุษตระกูลเซียว


ดร.อรรชกา สีบุญเรือง เดินไปศาลบรรพบุรุษตระกูลเซียวพร้อมกับผู้นำท้องถิ่น 
ตำบลซูหยาง หนานจิ้ง

ขบวนแห่ที่เรียบง่าย แต่ดูยิ่งใหญ่มีพลัง เดินลัดเลาะแนวตึก บ้านดินโบราณ ออกสู่พื้นที่โล่ง ซึ่งเป็นทุ่งนาและสวนผัก มองเห็นศาลบรรพบุรุษตระกูลเซียว  2 ศาล ถูกประดับประดาไปด้วยซุ้มประตูและเสาหินจำลอง สีเหลืองแดงสดใสสวยงาม ด้านหลังศาลบรรพบุรุษตระกูลเซียวทั้ง 2 ศาลเป็นภูเขา ด้านหน้าเป็นสระน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งตรงตามหลักฮวงจุ้ยของชาวจีน

“น้ำ” ที่อยู่ด้านหน้าศาลบรรพบุรุษตระกูลเซียวนั้นถือว่ามีสภาพเคลื่อนไหวและถือว่ามีความเป็นหยาง ส่วนสภาพชัยภูมิที่เป็น “ภูเขา” ด้านหลังนั้นถือมีว่าสภาพสงบนิ่งและมีความเป็นหยิน ซึ่งเป็นชัยภูมิที่มีความสำคัญในศาสตร์ฮวงจุ้ยเป็นอย่างมาก เพราะถือว่าเป็นชัยภูมิที่สามารถหาได้ไม่ยากในสมัยโบราณและเป็นสภาพชัยภูมิที่มีความเป็นหยินและหยางค่อนข้างสมบูรณ์เมื่อเทียบกับชัยภูมิชนิดอื่นๆ...ศาลบรรพบุรุษตระกูลเซียว ที่ผมเห็นมีลักษณะฮวงจุ้ยที่ดีอย่างครบถ้วนสมบูรณ์




ขบวนแห่ ผ่านทุ่งนาและสวนผัก ไปยังศาลบรรพบุรุษตระกูลเซียว


มร.หวาง จิ้น อู่ เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์เขตหนานจิ้ง ฝูเจี้ยน ซึ่งให้การต้อนรับคณะของพวกเราเป็นอย่างดี ได้กล่าวไว้ว่า "การมาของตระกูล ...สีบุญเรือง นับได้ว่าเปรียบดั่งมิตรไมตรี เป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่าง ไทยและจีน เป็นการมาเยี่ยมญาติพี่น้อง พร้อมกับนำธุรกิจการลงทุน การท่องเที่ยว เข้ามาด้วย โดยทางการจีน และตระกูลเซียวที่ตำบลซูหยาง ได้สร้างเสามังกรโดยสลักชื่อ ดร.อรรชกา สีบุญเรือง ซึ่งเป็นลูกหลานตระกูลเซียวรุ่นที่ 19  ทางเราได้เตรียมพิธีไหว้บรรพบุรุษแบบโบราณและการยกเสามังกร เพราะ ดร.อรรชกา เป็นผู้ไม่ลืมบรรพบุรุษและถิ่นกำเนิด"

สำหรับ ดร.อรรชกา สีบุญเรือง ที่ได้รับการเชิดชูเกียรติจากทางการจีน ยกเสามังกร ขึ้นที่ศาลบรรพบุรุษตระกูลเซียวในครั้งนี้ ถือได้ว่าเป็นลูกหลานชาวหนานจิ้ง ที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในโพ้นทะเล

ดร.อรรชกา สีบุญเรือง เป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม อดีตปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม อดีตประธานกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และอดีตประธานกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย



เครื่องดนตรีจีนพื้นถิ่น บรรเลง ในพิธียกเสามังกร ณ ศาลบรรพบุรุษตระกูลเซียว

ชาวบ้านมายืนดูพิธี ยกเสามังกร

ดร. อรรชกา ได้เล่าถึงความเป็นมาให้ฟังว่า "ตนเป็นคนจีนฮกเกี้ยน โดยบรรพบุรุษอพยพมาจากเมืองจีนเมื่อหลายร้อยปีก่อน มาตั้งรกรากที่มะละกาก่อนที่เข้ามาอยู่เมืองไทย โดยคุณทวดมาแต่งงานกับลูกเจ้าสัวที่ อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร  และเมื่อสองปีที่แล้วคือปี 2559  พวกเราคนในตระกูลสีบุญเรืองที่เมืองไทยได้ทำการสืบเสาะจนพบว่า บ้านบรรพบุรุษของเราอยู่ที่ตำบลซูหยาง อำเภอหนานจิ้ง โดยได้มาเห็นเสามังกรที่สลักชื่อของ เซียวฮุดเส็ง ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องกับคุณทวดชื่อ เซียวฮุดติ้น เราจึงเดินทางมาสำรวจกันเป็นคณะเล็กๆ พอมาดูก็แน่ใจว่าใช่ จึงมีความตั้งใจว่ากลับถึงเมืองไทย คงต้องหาโอกาสพาญาติพี่น้อง ตระกูลสีบุญเรืองมาไหว้บรรพบุรุษ ที่นี่กันสักครั้งหนึ่ง ... และมาวันนี้รวมญาติมาถึง 58 คน รู้สึกประทับใจและเป็นเกียรติที่ทางการจีนจัดให้มีพิธียกเสามังกร เป็นของตัวเอง” 





เสาหินมังกร หน้าศาลบรรพบุรุษตระกูลเซียว

ผมแหงนมองเสาหินมังกร ที่อยู่หน้าศาลบรรพบุรุษตระกูลเซียว เสาหินแกรนิตทั้งสี่เสาสูงประมาณ 10 เมตร ตรงกลางเสาสลักลวดลายมังกรเลื้อยพันสวยงามตามคติความเชื่อของชาวจีน มีภาษาจีนสีทองสลักชื่อ เกียรติประวัติ และวันที่ยกเสา  ... มัคคุเทศน์บอกให้พวกเราฟังว่าด้านบนของยอดเสามังกร อาจจะถูกแกะสลักสัญลักษณ์ที่แตกต่างกัน บ้างสลักเป็นรูปสิงโตหรือไม่ก็พู่กัน ถ้าบนหัวเสาสลักเป็นรูปสิงโตจะหมายถึงข้าราชการฝ่ายบู๊ เช่น แม่ทัพ นายกอง หรือถ้าสลักเป็นรูปพู่กันคือสัญลักษณ์แทนข้าราชการฝ่ายบุ๋นหรือจอหงวน ประเพณีการยกเสามังกรในหมู่บ้าน มีจุดมุ่งหมายเพื่อกระตุ้นให้เยาวชนรุ่นใหม่ ดำเนินสายตระกูล สร้างคุณงามความดีและชื่อเสียงให้แก่วงศ์ตระกูล สืบต่อไป

พิธียกเสามังกร

ทายาทตระกูลเซียว "สีบุญเรือง" ...ที่เข้าร่วมพิธียกเสามังกร ทั้งชายหญิง ผลัดเปลี่ยนเป็นชุดกี่เพ้าสีน้ำเงินมันวาวสวยงาม พร้อมกับใส่หมวกสักหลาดสีดำ มีสายสะพายสีแดงขลิบเหลือง และสีเหลืองของอักษรจีน บนสายสะพายทั้งหน้าและหลังเขียนเหมือนกันว่า 萧书山祠祭祖  แปลว่าพิธีเคารพศาลบรรพบุรุษ มองดูแล้วมีความเข้มขลัง เหมือนผมหลงเข้าไปเดินในภาพยนต์จีนยุค เจ้าพ่อเซี้ยงไฮ้ ยังไงยังงั้น

ผู้ที่ทำพิธีในศาลบรรพบุรุษตระกูลเซียว ใส่ชุดกี่เพ้าสีน้ำตาล ซึ่งเรียกว่า "อู" 巫 คือ “ผู้ที่มีหน้าที่เชื่อมฟ้า — ดิน” ได้ทำพิธีนำเคารพบรรพบุรุษ ทั้งสองศาล ก่อนออกมาทำพิธีเซ่นไหว้ บนลานหน้าเสามังกรอีกครั้ง








พิธี ในศาลบรรพบุรุษตระกูลเซียว

หน้าเสามังกรประทัด ความยาวเกือบ 25 เมตร ถูกจุดขึ้นริมสระน้ำ เสียงดังสนั่นเสมือนการกู่ร้อง ให้ฟ้าดิน ได้รับรู้ เครื่องเซ่นไหว้ มองดูเหมือนเทศกาลตรุษจีน มีทั้งหมูเป็ดไก่ ผลไม้ เหล้า ขนม ถูกจัดเรียงไว้บนโต๊ะหน้าเสามังกร แต่ที่แปลกตาสำหรับผมคือหมูตัวโต ถูกชำแหละไว้ทั้งตัวสดๆ วางแผ่อยู่บนโต๊ะ อีกทั้งยังมีไก่เป็นๆ ที่เตรียมพร้อมสำหรับการเซ่นไหว้เสามังกรอีกด้วย




คุณ ตุนท์ มหาดำรงค์กุล ผู้บริหารหนุ่มแห่ง โทรคาเดโร กรุ๊ป

"ตุนท์ มหาดำรงค์กุล" ผู้บริหารหนุ่มแห่ง โทรคาเดโร กรุ๊ป ทายาท "มหาดำรงค์กุล" ตระกูลดังที่คุ้นหู ผู้นำเข้านาฬิกาแบรนด์ดังจากสวิส และญี่ปุ่น อาทินาฬิกาโอริส /กุชชี่ /อิซเซ่ มิยาเกะ สู่เมืองไทยมายาวนาน ...ได้ร่วมเดินทางมากับคณะและเข้าร่วมพิธีสำคัญ ยกเสามังกร ในครั้งนี้ด้วย คุณตุนท์เล่าให้เราฟังว่า "คุณแม่ ดารารัตน์ มหาดำรงค์กุล มีนามสกุลเดิม  สีบุญเรือง บรรพบุรุษมาจากเมืองจีนคือ เซียว ฮุดเส็ง สีบุญเรือง เจ้าของบรรณาธิการโรงพิมพ์หนังสือพิมพ์ภาษาไทย/จีน ยุคแรก พ.ศ.2450 ปลายรัชกาลที่ 5  มาจากหนานจิ้ง จึงได้เดินทางร่วมคณะมาที่นี่ รู้สึกดีใจที่ได้ย้อนมาดูรากเหง้าของต้นตระกูลได้เห็นถิ่นกำเนิดบรรพบุรุษของตัวเอง และได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากคนพื้นที่ ได้เห็นการทำพิธีแบบจีนโบราณ"










ดร.อรรชกา สีบุญเรือง ในพิธียกเสามังกรของตัวเอง ที่ศาลบรรพบุรุษตระกูลเซียว





พิธียกเสามังกร เชิดชูเกียรติ ดร. อรรชกา สีบุญเรือง

นักธุรกิจมาร่วมในพิธียกเสามังกร




ชาวซูหยาง หนานจิ้ง มารอชมพิธียกเสามังกร



บรรยากาศในพิธียกเสามังกร


มองจากหน้าศาลตระกูลเซียว ภาพสะท้อนน้ำสวยงาม

ร่วมรับประทานอาหารในศาลบรรพบุรุษ


ทายาทตระกูลเซียว ..."สีบุญเรือง" 


ที่ town hall ค่ำคืนนั้น ชาวซูหยาง หนานจิ้ง และผู้นำท้องถิ่นได้เลี้ยงฉลองต้อนรับคณะของพวกเราเป็นอย่างดีด้วยอาหารเลิศรส และมีการแสดงโชว์หลากหลายชุดที่ยอดเยี่ยมดุจดั่งได้นั่งชมอุปรากรจีนระดับมืออาชีพ









การแสดงต้อนรับคณะผู้มาเยือน ของชาวซูหยาง หนานจิ้ง 

แม้กาลเวลาและยุคสมัยจะเปลี่ยนไป แต่ตราบใดที่ลูกหลานจีนโพ้นทะเลยังรู้สำนึกกตัญญู ก็เชื่อได้ว่า เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอันเป็นมรดกตกทอดของบรรพบุรุษผู้เป็นชาวจีนโพ้นทะเล คงไม่มีวันสูญหายไปจากประเทศไทย




เส้นทางสกุล "สีบุญเรือง" (คลิ๊กชม)

แกลอรี่รูปภาพTiewZogZag