วันจันทร์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2561

แอ่วเมืองเหนือ...เชียงใหม่-ลำพูน-ลำปาง(Lanna Media Fam Trip 2018)


แอ่วเมืองเหนือทริปนี้ ผมไม่ได้ไปนอน อาบหมอก ห่มดาว โต้ลมหนาวบนดอยสวยๆ ที่ไหนสักแห่ง ...ผมไปเมืองเหนือครั้งนี้เพราะได้รับเชิญจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)ให้ไปร่วมกิจกรรม Lanna Media Fam Trip 2018 โดยมีสมาคมด้านการท่องเที่ยวต่างๆ ในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียง เกิดแนวคิดในการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวและกิจกรรมท่องเที่ยวใหม่ๆ ร่วมกันเพื่อเป็นต้นแบบสำหรับขายให้นักท่องเที่ยวจีน ทั้งด้านการท่องเที่ยวและการจัดประชุมสัมมนา ซึ่งจีนเป็นประเทศที่มีศักยภาพที่จะนำนักท่องเที่ยว และกลุ่มประชุมสัมมนามาในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนในอนาคต กิจกรรมท่องเที่ยว Fam Trip ครั้งนี้มีแหล่งท่องเที่ยวเชื่อมโยงกัน 3 จังหวัด มี เชียงใหม่-ลำพูนและลำปาง 



การจัดกิจกรรมLanna Media Fam Trip 2018 ในครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากองค์กรพันธมิตร ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน อาทิ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวเชียงใหม่ สมาคมผู้ประกอบธุรกิจสินค้าหัตถกรรมบ้านถวาย สมาคมไทยล้านนาสปา สมาคมมัคคุเทศก์เชียงใหม่ สมาคมสมาพันธ์ท่องเที่ยวภาคเหนือแม่แตง สมาคมท่องเที่ยวฮาลาสไทย สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดลำพูน สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดลำปาง สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดลำปาง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สำนักงานเชียงใหม่) ศูนย์วิจัยโลจิสติกส์และห่วงโซ่อุปทาน คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการท่องเที่ยว สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยได้รับการสนับสนุนหลักจากสำนักกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

นักท่องเที่ยวจีนเป็นกลุ่มตลาดใหญ่ที่เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี จึงมีความสำคัญมากที่สุดตลาดหนึ่งของการท่องเที่ยวในประเทศไทย มีความได้เปรียบและมีโอกาสสูงในการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวจากกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีน แต่ปัญหาที่พบคือจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่มาไทยในแต่ละประเภทเป็นจำนวนมาก (ยกเว้นกลุ่มรายได้สูง) ทำให้กำลังรองรับของไทยไม่เพียงพอ พฤติกรรมการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวจีนเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม อาทิ แต่ก่อนนิยมท่องเที่ยวเป็นหมู่คณะให้บริษัททัวร์เป็นผู้จัดการการท่องเที่ยว เปลี่ยนเป็นจัดการท่องเที่ยวด้วยตัวเองมากขึ้น ทราบข้อมูลการท่องเที่ยวจากการบอกต่อของเพื่อนฝูง ญาติ พี่น้อง และ Application ของอุปกรณ์ที่ทันสมัย เช่น Smartphone และ Tablet เข้ามามีบทบาทใหม่ในการท่องเที่ยว โดยใช้สำหรับค้นหาข้อมูลการท่องเที่ยว และแหล่งท่องเที่ยว แปลภาษ ดูแผนที่ แบ่งปัน (Share) ข้อมูลและรูปภาพผ่านสังคมออนไลน์


นักท่องเที่ยวจีน รุ่นใหม่ๆ เดินทางเข้ามาเที่ยวเมืองไทยมากขึ้น

ปางช้างแม่แตง

ปางช้างแม่แตง เป็นอีกสถานที่ท่องเที่ยวหนึ่งที่นักเที่ยวจีนนิยม ไปเที่ยว ที่นี่มีความร่มรื่น มีลำน้ำแม่แตงไหลผ่าน 

ปางช้างแม่แตงมีการส่งเสริมสนับสนุนการท่องเที่ยว ในชุมชน โดยการสนับสนุนคนในชุมชนมาเป็นลูกจ้างในปางช้าง การส่งเสริมและการรับซ้ือผลผลิต แลผลิตภัณฑ์จากชุมชนมาใช้ในปางช้าง นอกจากน้ี้ยังสนับสนุนให้คนในชุมชนมาร่วมเครือข่ายในกิจกรรมปางช้างและ การอนุรักษ์ ฟื้นฟูพื้นที่ธรรมชาติ และการให้ความสำคัญของการอนุรักษ์ช้าง ตลอดจนการช่วยผลิตสื่อ ประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวใหกับชุมชน อีกทั้งการมีนโยบายคืนกำไรหรือการตอบแทนสังคมและธรรมชาติ ด้วยกิจกรรมสร้างสรรค์



การแสดงโชว์ช้างเป็นอีกหนึ่งกิจกรรม ที่ทำให้นักเที่ยวประทับใจ มีการแสดงความสามารถ การสาธิตให้ช้างปฏิบัติตามคําสั่งของควาญช้าง การสาธิตการใช้งานจากช้าง และที่สร้างความฮือฮาให้นักท่องเที่ยวเป็นพิเศษ คือการแสดงโชว์ให้ช้างวาดภาพ ซึ่งมีความสวยงามมาก ภาพที่ช้างวาดจะถูกนำไปจัดแสดงในช๊อป เป็นแกลลอรี่ นักท่องเที่ยวสามมารถเลือกซื้อได้โดยรายได้จากการขายภาพ ทางปางช้างจะนำไปเป็นค่ารักษาพยาบาลช้างป่วย จากปางช้างอื่นๆ อีกต่อไป



การแสดงโชว์ช้าง

ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
และ ดร.บุญทา ชัยเลิศ เจ้าของปางช้างแม่แตง




ช้างโชว์วาดภาพสวยงามมาก


วัวเทียมเกวียน หรือกิจกรรม "นั่งล้อ" เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งของปางช้างแม่แตง ที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวมาก เกวียนแต่ละเล่มบรรทุกนักท่องเที่ยวได้ประมาณ 4-5 คน เกวียนที่ นํามาใช้เป็นเกวียนท้องถิ่นที่เคยใช้ในนอดีต ยังคงสภาพเดิมและมีความสวยงามของการออกแบบ เป็นเกวียนแบบสมัยโบราณ  เกวียนจะถูกเทียมวัว 2 ตัว มีร่มบริการบังแดดฝน มีผู้ ควบคุมดูแล 1 คน สําหรับการดูแลนักท่องเที่ยว






กิจกรรมนั่งช้างและนั่งเกวียน ในปางช้างแม่แตง

ปางช้างแม่แตงมีคลินิกปางช้างบริการรักษาช้างเจ็บป่วย การตรวจสุขภาพช้าง ทั้งภายในและภายนอกปางช้าง รวมถึงปางช้างข้างเคียงภายในท้องถิ่น ตําบลกื้ดช้าง การจดทะเบียนช้าง นอกจากนี้ยังเป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับการรักษาช้างการใช้สมุนไพรรักษาดูแลช้าง ให้กับนักท่องเที่ยว เยาวชน นักศึกษา และรวมถึงการดูแลวัว ควาย ที่อยู่ ในปางช้างแม่แตง



ส่วนของแผนกสัตวแพทย์ในปางชา้งแม่แตง มีการนำสมุนไพรมาช่วยรักษา


ที่ปางช้างแม่แตงมีการทํากระดาษจากมูลช้าง

การทำกระดาษมูลช้างเป็นแนวคิดของปางช้างแม่แตงร่วมกับนักท่องเที่ยวที่เห็นความสําคัญของมูลช้างที่สามารถ นํามาใช้ประโยชน์ได้โดยการนํามูลช้างมาผ่านกรรมวิธีล้างให้เหลือแต่เส้นใยพืชที่ช้างกินเข้าไป แล้นําใยพืชเหล่านั้นมาต้ม ใช้เวลาประมาณ 6 ชั่วโมง แแล้วนํามาผ่านกระบวนการทําเป็นกระดาษ ตากแดดให้แห้ง จะได้กระดาษมูลช้าง ปลอดภัย และไม่มีกลิ่น แล้วนํามาเพิ่มมูลค่าโดยการนํามา ทำเป็นกรอบรูป การ์ด กล่อง และนํามาจําหน่ายให้กับนักท่องเที่ยว นอกจากนี้ยังเป็นแหล่ง เรียนรู้ให้กับนักท่องเที่ยวในการสร้างคุณค่าจากของเหลือใช้มาออกแบบให้เกิดประโยชน์และ คุณค่าทางจิตใจ กระดาษมูลช้างผ่านใบรับรองจากสัตวแพทย์ของเชียงใหม่เนื่องจากผ่าน กระบวนการการต้มฆ่าเชื้อและมีเอกสารพิสูจน์หลักฐานไม่เป็นอันตรายต่อนักท่องเที่ยว 





ชมกกรรมวิธีการทำกระดาษมูลช้าง

เดิมที กะเหรี่ยงคอยาว เราจะสามารถพบได้ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ใครอยากเห็นก็ต้องไปที่นั้น แต่ปัจจุบันได้มีการสร้างหมู่บ้านกะเหรี่ยงคอยาวที่นี้ขึ้น และนำชาวกะเหรี่ยงคอยาว มาอยู่รวมกันเป็นหมู่บ้านขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่ และเปิดให้นักท่องเที่ยวได้เข้าชมวิถีความเป็นอยู่ สินค้าพื้นเมือง การทำเกษตร ได้ที่ปางช้างแม่ปาง









หมู่บ้านกระเหรี่ยงคอยาว ในปางช้างแม่แตง

การล่องแพไม้ไผ่ เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจการ เดินทางล่องลําน้ําแม่แตงชมธรรมชาติ พืชพรรณธรรมชาติโดยให้นักท่องเที่ยวจะได้รับการดูแล อย่างดีจากพนักงานถ่อแพไม้ไผ่ที่มีความชํานาญและปลอดภัย ปางช้างแม่แตงกําหนดให้มีพนักงาน ถ่อแพ 2 คนต่อ 1 แพไม้ไผ่ แต่ละแพรับนักท่องเที่ยวได้ครั้งละไม่เกิน 8 คน และมีเก้าอี้ไม้ให้นั่ง บนแพ โดยไม่ทำให้เปียกน้ำ ไม้ไผ่ที่นํามาใช้จะต้องเป็นไม้แก่และ ใหญ่ แข็งแรง และไม่แตก

จุดเริ่มต้นปล่อยแพไม้ไผ่ เป็นที่ลาดเดินลงไปที่ ริมแม่น้ำแตง และบริเวณฝั่งตรงข้ามเป็นสภาพป่าไม้ปกคลุมไปด้วยพรรณไม้นานาชนิด และเป็น จุดทําสําคัญที่ให้ภาพสวยงามในสายตาของผู้ชมและนักท่องเที่ยวที่กําลังจะปล่อยแพไม้ไผ่ออกไป ซึ่งเป็นภาพที่เห็นช้างที่กําลังบริการให้นักท่องเที่ยวนั่งบนหลังช้างกําลังเดินลงมาจากป่าแล้วค่อยๆ เดินลงมาที่แม่น้ําแตง 











กิจกรรมล่องแพแม่น้ำแม่แตง ชมธรรมชาติสองริมฝั่งสงบสวยงาม

สะพานแขวนไปชมธรรมชาติอีกฝั่งหนึ่งของปางช้างแม่แตงโดยมี ดร.บุญทา ชัยเลิศ นำชม

เสวนา "การพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยว ตลาดนักท่องเที่ยวจีน"

ผมมีโอกาสไปนั่งฟังการเสวนา เรื่อง  "การพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยว ตลาดนักท่องเที่ยวจีน" ณ วัด ต้นแกว๋น จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี นายปวิณ ชำนิศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่กล่าวเปิดงาน

 โดยมี ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ,ผศ.สุภาวดีโพธิยะราช ผู้อำนวยการฝ่ายการวิจัยมุ่งเป้า สกว.และดร.กรวรรณ  สังขกร หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนาการท่องเที่ยว สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกันเปิดเผยถึงการสำรวจว่า นักท่องเที่ยวจีนเป็นกลุ่มตลาดใหญ่ที่เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมหาศาล จากสถิติการท่องเที่ยวในปี พ.ศ. 2552 มีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาท่องเที่ยวในไทย 0.77 ล้านคน



วัดต้นแกว๋น จ.เชียงใหม่

นายปวิณ ชำนิศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่กล่าวเปิดงาน

และในปีพ.ศ. 2559 มีนักท่องเที่ยวชาวจีนเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากถึง 8.3 ล้านคน โดยเฉพาะเห็นได้ชัดเจนหลังจากมีการฉายภาพยนตร์เรื่อง The Lost in Thailand ปลายปี พ.ศ. 2555 ทำให้นักท่องเที่ยวชาวจีนนิยมมาท่องเที่ยวไทยอย่างต่อเนื่อง ตลาดนักท่องเที่ยวจีนเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุด คาดการณ์ว่าในปี 2561 จะมีนักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางออกนอกประเทศถึง 154 ล้านคน ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่ 2 ที่นักท่องเที่ยวจีนนิยมเดินทางไปท่องเที่ยวเป็นหมู่คณะ



การที่มีนักท่องเที่ยวชาวจีนนิยมมาเชียงใหม่อย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ประกอบการไทยตั้งรับนักท่องเที่ยวจีนที่เข้ามาอย่างมหาศาลไม่ทัน นอกจากนี้คนในท้องถิ่นยังได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ทั้งในแง่บวกและลบจากนัดท่องเที่ยวจีนอีกด้วย  สถาบันวิจัยสังคมจึงได้รับมอบหมายจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ให้ศึกษาเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับตลาดของนักท่องเที่ยวจีนเพื่อนำเสนอทางออก และหาแนวทางในการรองรับนักท่องเที่ยวจีนในพื้นที่ ซึ่งแผนงานวิจัยฯ ทำการศึกษา 2 ส่วน คือ ศึกษาตลาดนักท่องเที่ยวจีนต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย และ ศึกษาและพัฒนาระบบโลจิสติกส์การเดินทางของนักท่องเที่ยวจีน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพฤติกรรมการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวจีน และผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยและคนท้องถิ่น

ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
ผศ.สุภาวดีโพธิยะราช ผู้อำนวยการฝ่ายการวิจัยมุ่งเป้า สกว.
และดร.กรวรรณ  สังขกร หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนาการท่องเที่ยว สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


ผลการสำรวจพบว่า จีนนิยม - 7 เรื่องไม่ลับเข้าใจนักท่องเที่ยวจีน ได้แก่

1 เที่ยวไม่ง้อทัวร์ ไม่ว่าจะมองไปทางไหนก็มักเห็น “ทัวร์จีน” เต็มไปหมด แต่จากผลการสำรวจกลับพบว่า นักท่องเที่ยวจีนร้อยละ 89.1 นั้น เดินทางมาเที่ยวด้วยตนเองทั้งสิ้น เนื่องจากนักท่องเที่ยวจีนที่เราเห็นกันส่วนใหญ่เกินครึ่งจบการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และระดับการศึกษานี่เองที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการท่องเที่ยวดังกล่าว คนกลุ่มนี้กล้าที่จะหาประสบการณ์ท่องเที่ยวใหม่ๆ
2 พีคสุดช่วงหยุดยาว จะ High Seasons หรือ Low Seasons ก็ไม่ได้มีผลมาก เนื่องจากนักท่องเที่ยวจีนส่วนใหญ่ไม่ได้เที่ยวตามฤดูกาลท่องเที่ยว แต่ช่วงที่พวกเขาเดินทางกันแบบพีคๆ คือช่วงเทศกาลตรุษจีนและวันชาติจีน อันเป็นวันหยุดต่อเนื่อง 7-10 วัน นั่นเอง จากสถิติยังพบอีกว่านักท่องเที่ยวจีนเกินครึ่งชอบอากาศหนาวฉ่ำมากกว่าร้อนและฝน

3 ทริปเขียวเที่ยวเพลิน จุดดึงดูดไม่ได้อยู่ที่แสงสี แต่แหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ เขียวชอุ่ม นี่สิที่นักท่องเที่ยวจีนชื่นชอบ โดยคิดเป็นร้อยละ 59.6 ก่อนตามมาด้วยแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ แหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และท่องเที่ยวบันเทิงยามราตรี ตามลำดับ อีกทั้งส่วนมากยังนิยมเดินทางมาเพื่อพักผ่อนคลาย ฟื้นฟูสุขภาพร่างกายและจิตใจเป็นหลักด้วย
4 หลงเสน่ห์โรงแรมบูติค โรงแรมขนาดกะทัดรัดกับบรรยากาศอันอบอวลด้วยกลิ่นอายของอาคารโบราณ พร้อมประดับประดาเครื่องใช้ไม้สอยสไตล์ย้อนยุค คือเสน่ห์ของ Boutique Hotel ที่นักท่องเที่ยวจีนร้อยละ 43.2 นิยมชมชอบเอามากๆ หากเจ้าของกิจการโรงแรมแนวนี้อยากให้ Booking แน่นเอี๊ยดด้วยนักท่องเที่ยวจีนก็อย่าลืมหันมาใส่ใจรายละเอียดในเรื่องของงานบริการและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่เหมาะสมกับนักท่องเที่ยวจีนด้วย

5 เหลาไม่อิน ท้องถิ่นสิดี ร้อยละ 56.5 ของนักท่องเที่ยวจีน ฟินกับอาหารท้องถิ่นไม่ใช่อาหารเหลาหรูหรา แล้วที่ชื่นชอบมากๆ นั้นก็หนีไม่พ้นเมนูยอดฮิต อย่าง ต้มยำกุ้ง ผลไม้ตามฤดูกาล ผัดไทย อาหารทะเล ข้าวผัด ส้มตำ โดยเฉพาะ “ข้าวเหนียวมะม่วง” นั้น ถือเป็นเมนูเช็คอินประจำเมืองไทยของชาวจีน ถึงขนาดที่แม้ค้าตลาดนัดส่วนใหญ่แทบจะจำขึ้นได้ใจ “หมางกั่วๆ” หรือ “หมางกั่ว นั่วหมี่ฟั่น”

6 หิ้วของแห้ง ของฝากจากแดนไทยที่นักท่องเที่ยวจีนหอบหิ้วข้ามโพ้นทะเลกลับบ้าน ก็ยังคงเป็นหนึ่งในอาหารที่ถูกปากติดใจ อย่าง ผลไม้ตามฤดูกาล แต่จะให้หิ้วง่าย ได้ปริมาณมาก และเก็บไว้รับประทานได้นาน ก็ต้อง “ผลไม้อบแห้ง” ทั้งลำไยอบแห้ง มะม่วงอบแห้ง สับปะรดอบแห้ง ฯลฯ ซึ่งมีจำหน่ายแทบทุกที่ตั้งแต่ตลาดนัดยันซุปเปอร์มาร์เก็ต ช็อปของแห้งจนเหลือเฟือแล้วจึงเลือกซื้อเสื้อผ้า อุปกรณ์สปา เครื่องสำอางค์ ยา น้ำมันหอมระเหย เครื่องประดับ ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ และกระเป๋า

7 นวดไทยชนะขาด เมื่อส่วนใหญ่ปักหมุดการเดินทางว่าจะมาเพื่อพักผ่อนคลาย ฟื้นฟูสุขภาพร่างกายและจิตใจเป็นหลัก “นวดแผนโบราณ” จึงกลายเป็นกิจกรรมที่ร้อยละ 75.5 ของนักท่องเที่ยวจีนไม่พลาด ตามมาด้วยกิจกรรมจับจ่ายซื้อของ ขี่ช้าง นวดสปา ชมคาบาเรต์ โหนสลิง และล่องแก่ง จะว่าไปแล้วกิจกรรมอื่นๆ ดูเหนื่อยหนักใช่ย่อย จึงไม่แปลกที่นวดแผนโบราณจะชนะขาดรอยในลิสต์กิจกรรมการท่องเที่ยว เพราะนวดช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อยได้ชะงัด หายเหนื่อยมีพลังก็พร้อมออกไปเที่ยวเมืองไทยให้สนุกกันต่อโลด

เสวนา"การพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยว ตลาดนักท่องเที่ยวจีน" ณ วัด ต้นแกว๋น 







บรรยากาศในงาน เสวนา "การพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยว ตลาดนักท่องเที่ยวจีน" 

เดินทางไปชม โรงเรียนสอนทำนาชาวไทลื้อ บ้านธิ จังหวัดลำพูน

ชาวไทลื้อบ้านธิ ลำพูน .... ชาวไทลื้อบ้านธิเดิมทีอยู่ดินแดนสิปสองปัน­นาแต่ด้วยเหตุหลายปัจจัยทำให้ต้องย้ายถิ่น­ฐานมาที่จังหวัดลำพูน ชาวไตลื้อชอบอาศัยบริเวณริมน้ำเพื่อสะดวกใ­นการทำมาหากิน และนับถือผี ประเพณีของชาวไทลื้อมีมากมาย เช่น กินหวานต๋านม่วน เลื้ยงผีขุนน้ำ เป็นต้น

ผมมีโอกาสไปชม "โรงเรียนสอนทำนา" ซึ่งเป็นพื้นที่ทุ่งนาในหมู่บ้านแพะ มีพื้นที่ประมาณ 300 ไร่ เป็นสถานที่ที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยวในเทศบาลตำบลบ้านธิเป็นอย่างมาก เนื่องจากที่โรงเรียนสอนทำนาแห่งนี้มีการสอนวิธีการเพาะกล้า ดำนา(ปลูกข้าว) และเกี่ยวข้าว ซึ่งเป็นวิถีชีวิตและเป็นอาชีพหลักของชาวบ้านธิ




โรงเรียนสอนทำนาบ้านธิ อยู่ในบริเวณวัดเก่าแก่ มีกิจการรมมากมาย เริ่มตั้งแต่ การถอนต้นกล้า ดำนา ชมวิถีการหาปลาในในท้องนา ตำข้าวนวนข้าว ฯลฯ



การดำนา



อาหารพื้นบ้านไข่ป่าม











บรรยากาศ การท่องเที่ยววิถีชาวนา ที่หมู่บ้านไทลื้อ บ้านธิ จังหวัดลำพูน

โรงเรียนสอนทำนาบ้านธิ อยู่ใกล้วัดเก่าแก่ของหมู่บ้าน


นั่งรถรางชมเมืองลำพูน

ลำพูน เป็นเมืองที่สงบ บรรยากาศน่ารัก มีวัฒนธรรมแบบล้านนาอันเก่าแก่ ห่างจากจังหวัดเชียงใหม่เพียง 20 กว่ากิโลเมตรเท่านั้นเอง เมื่อเราก้าวเข้าสู่เมืองลำพูนสิ่งหนึ่งที่สัมผัสได้ คือ บรรยากาศของบ้านเมืองที่น่าอยู่ ผู้คนใช้ชีวิตแบบไม่เร่งรีบ กิน อยู่อย่างเรียบง่าย ยังมีวิถีชีวิตท้องถิ่นแบบดั้งเดิมอยู่มาก ในตัวเมืองลำพูนมีวัดวาอารามเก่าแก่ งดงามด้วยสถาปัตยกรรมเฉพาะถิ่นให้ได้เยี่ยมชมมากมาย ถัดจากนอกเมืองออกไปก็มีธรรมชาติอันน่ารื่นรมย์ให้ได้สัมผัส มีชุมชนที่มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น เป็นอีกจังหวัดล้านนาที่น่าไปสัมผัส

วัดพระธาตุหริภุญไชยวรมหาวิหาร เป็นปูชนียสถานสำคัญในภาคเหนือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่คู่บ้านคู่เมืองลำพูนมาอย่างยาวนานตั้งอดีตนับเวลามากกว่าพันปี ตั้งอยู่ใจกลางเมืองลำพูน นอกจากนี้ยังเป็นองค์พระธาตุประจำปีเกิดของคนเกิดปีระกา พระธาตุหริภุญไชยเป็นเจดีย์แบบล้านนาไทยแท้ๆ ที่ลงตัวสวยงาม ภายในบรรจุพระเกศบรมธาตุบรรจุในโกศทองคำ



ก่อนที่จะเข้าไปในบริเวณวัด ต้องผ่านซุ้มประตูก่ออิฐถือปูนประดับลวดลาย วิจิตรพิสดาร เป็นฝีมือโบราณสมัยศรีวิชัย ประกอบด้วยซุ้มยอดเป็นชั้น ๆ เบื้องหน้าซุ้มประตูมีสิงห์ใหญ่คู่หนึ่งยืนเป็นสง่า ภายในวัดยังมีโบราณสถานที่สำคัญอีกหลายอย่าง ไห้เราได้กราบไหว้บูชา อาที วิหารพระเจ้าทันใจ,วิหารพระเจ้าองค์แดง,รอยพระพุทธบาทสี่ดวง,วิหารพระนอน



วัดพระธาตุหริภุญไชยวรมหาวิหาร วัดคู่เมืองลำพูน



วัดจามเทวี
ตั้งอยู่บนถนนจามเทวี ตำบลในเมือง อำเภอเมือง เป็นวัดเก่าแก่ที่สำคัญมา ตั้งแต่สมัยล้านนาไทย ที่มีความสําคัญทั้งทางด้านประวัติศาสตร์ และโบราณคดีตามหลักฐานที่ได้พบศิลาจารึกเชื่อว่า พระราชโอรส ของพระนางจามเทวีปฐมกษัตริย์ แห่งนครหริภุญชัย โปรดให้สร้างวัดนี้ขึ้นเพื่อถวายพระเพลิง และสร้างเจดีย์เหลี่ยมมียอดหุ้มด้วยทองทองเรียกชื่อว่า สุวรรณจังโกฏิ หรือพระเจดีย์จามเทวี เป็นเจดีย์สี่เหลี่ยมแบบพุทธคยาในประเทศอินเดีย แต่ละด้านมีพระพุทธรูปยืนปางประทานพรอยู่เป็นชั้นๆพรศิลปกรรมของลพบุรีมีพระพุทธรูป ยืนปาง ประทานพรอยู่ในซุ้มพระทั้งสี่ด้านด้านละ 15 องค์ รวม 60 องค์ ภายในพระเจดีย์บรรจุอัฐิของพระนางจามเทวี ถือเป็นแบบสถาปัตยกรรมที่มีความสําคัญในศิลปกรรมหริภุญชัย






วัดจามเทวี


วัดสันป่ายางหลวง เป็นอีกวัดที่น่าชม เป็นวัดที่ติด 1 ใน 5 วัดที่สวยที่สุด ในประเทศไทย ภายในวัดสันป่ายางหลวงมีการแกะสลักลวดลายปูนปั้นไว้อย่างวิจิตรงดงาม โดยเฉพาะวิหารพระโขงเขียว มีการแกะสลักละลายปูนปั้นที่สร้างไว้ในพระวิหารอย่างละเอียดและวิจิตรสวยงามยิ่งแม้กระทั่งมุมหน้าจั่ว เชิงเพดานหลังคาด้านหน้า ด้านข้าง และ ด้านหลัง รวมทั้งเสาพระวิหารก็จะมีลายแกะสลักลงรักปิดทองไว้ แม้ถึงบ้านประตู-หน้าต่าง ทุกบาน วิหารพระโขงเขียว เป็นที่ประดิษฐานพระหยกเขียวซึ่งนำมาจากแม่น้ำโขง

แต่ทริปนี้ผมแค่ชะโงกทัวร์ เลยได้ภาพมาฝากน้อยมากครับ



วัดสันป่ายางหลวง


เรานั่งรถรางสีเหลืองชมเมืองไปเรื่อยๆ จนมาถึง กู่ช้าง กู่ม้า สถานที่ศักสิทธิ์อีกแห่งของเมืองพูน



กู่ช้าง กู่ม้า

กู่ช้าง กู่ม้า เป็นโบราณสถานที่ตั้งอยู่คู่กัน เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองอีกแห่งหนึ่งที่ชาวลำพูนให้ความเคารพนับถือ เมื่อต้องการ สมหวังในสิ่งใด ก็มักจะมา ขอพรกันที่นี่ เรียกได้ว่าเป็นทั้งโบราณสถานที่มีความสำคัญเชิงประวัติศาสตร์ และโบราณคดี ตลอดจนเป็น ที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ของคนในชุมชน ด้วยความเชื่อว่าเป็นสุสานช้างศึก – ม้าศึก คู่บารมีของพระนางจามเทวี ชาวลำพูนให้ความเคารพนับถือกู่ช้างมาก มีการสร้างศาลเจ้าพ่อกู่ช้างไว้ในทางทิศตะวันออกใกล้กับองค์เจดีย์ด้านหน้า ศาลเจ้าพ่อกู่ช้าง มีรูปปั้นจำลองของปู่ก่ำงาเขียว เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้มาสักการะ เชื่อกันว่าหากได้ลอดท้องพระยาช้างเชือกนี้ จะเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต ประสบความสำเร็จในสิ่งที่ปรารถนา






กู่ช้าง กู่ม้า

นั่งรถรางจากหน้าวัดพระธาตุหริภุณชัยวรวิหารชมเมืองลำพูน



แอ่ว...ลำปาง

เขลางค์นคร หรือเมืองลำปาง เมืองต่อนยอนเนิบๆสโลวไลฟ์ ที่เหมาะสำหรับมาปล่อยชีวิตให้เดินอย่างช้าๆ ชมเมือง วัดวาอาราม สิ่งก่อสร้างที่มีศิลปะเก่าแก่งดงาม เหมาะสำหรับมาสูดกลิ่นไอแห่งความเป็นล้านนาไทย อีกทั้งยังมีสถานที่งดงามด้วยธรรมชาติที่งดงามแปลกตา

ทริป Lanna Media Fam Trip 2018 ผมมีโอกาสไปเที่ยวชมเมืองแห่งความสงบเงียบ ชีวิตต่อยอนสโลว์ไลฟ์แห่งนี้อีกครั้ง

เรือนป่องนัก

เป็นครั้งแรกที่ผมมีโอกาสได้ไปสัมผัส เรือนป่องนัก หรือ บ้านป่องนัก...  บ้านป่องนัก เป็นบ้านอายุกว่า 90 ปี ที่สร้างขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2468 เพื่อเป็นที่ประทับแรมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินมณฑลพายัพในเดือนมกราคม พ.ศ.2469 และต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในภาคเหนือเมื่อเดือนมีนาคมพ.ศ.2501 ก็ได้ทรงประทับแรมที่นี่

ป่องนักเป็นภาษาคำเมืองที่คนในภาคเหนือเรียกกัน คำว่า "ป่อง"หมายถึงหน้าต่าง คำว่า "นัก" หมายถึงมาก บ้านป่องนักจึงหมายถึงบ้านที่มีหน้าต่างมาก



บ้านป่องนักเป็นสถาปัตยกรรมยุโรปแบบคลาสสิกสมัยกรีก ราวศตวรรตที่13 ผสมผสานกับสถาปัตยกรรมแบบไทย ลักษณะหน้าต่างแบบเป็นเกล็ดมี 250 บาน ช่องหน้าต่าง 469 ช่อง ตัวบ้านเป็นอาคารไม้สัก 2 ชั้นยกพื้นเตี้ย มีหน้ามุขแบบ5 เหลี่ยม จำนวน 5 มุข หลังคาทรงปิรามิด

ปัจจุบันบ้านป่องนักเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์มณฑลทหารบกที่ 32 ค่ายสุรศักดิ์มนตรี จังหวัดลำปาง ชั้นล่างของอาคารจัดเป็นที่แสดงอาวุธบางส่วนที่ใช้ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2


เรือนป่องนัก

นั่งรถม้าชมเมืองลำปาง ชิลล์ๆ

เช้าวันที่มีอุณหภูมิ 15 องศา ณเมืองลำปาง... การนั่งรถม้าที่นี่ถือเป็นของคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดลำปาง นั่งเพลินๆชมเมืองเก่าไป คนลำปางยังคงไว้ซึ่ง เงียบสงบและใช้วิถีชีวิตที่ดูเรียบง่าย ไม่วุ่นวาย บ้านเก่าหลายหลังสวยงามคลาสสิค รถมาวิ่งควบกุ๊บๆ ผ่านไปตามถนนตัวเมืองอย่างเพลินเพลิน แล้วพาเราไปหยุดชมวัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม





วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม พระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ ตั้งอยู่ที่ ตำบลเวียงเหนือ อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง มีเนื้อที่ 51 ไร่ 2 งาน 61 ตารางวา เป็นวัดที่เก่าแก่และสวยงามมีอายุนับพันปี เคยเป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร

บริเวณที่ตั้งวัดเป็นเนินดิน สูงขนาดใหญ่ แต่เดิมวัดพระแก้วดอนเต้ากับวัดสุชาดารามเป็นคนละวัดแต่ตั้งอยู่ติดกัน ต่อมาภายหลังได้มีประกาศของ กระทรวงศึกษาธิการให้ทั้งสองวัด เป็นวัดเดียวกัน จึงได้มีการรื้อกำแพงกั้นเขตวัดออก





วัดพระแก้วดอนเต้า 

เป็นวัดเก่าแก่มีประวัติความเป็นมามากกว่า 500 ปี เคยเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต

วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม





บรรยากาศเมืองลำปาง


กาดกองต้า
กาดกองต้าหรือตลาดจีน ที่ชาวบ้านเรียกติดปาก เป็นย่านตลาดเก่า ตั้งอยู่ขนานกับลำน้ำวัง ในซอยตลาดจีนริมน้ำ มีอาคารโบราณอายุเหยียบร้อยปี ชุมชนกาดกองต้าถือเป็นถนนสายเศรษฐกิจ ที่มีความเป็นมาที่เก่าแก่ และมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ในช่วงคืนทุกวันเสาร์และอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 17.00 น. – 22.00 น. ก็ยิ่งทำให้ผู้มาเดินเที่ยวชมและ พ่อค้าแม่ค้าที่ นำสินค้า มาวางขายต่างหวนระลึกถึงบรรยากาศเก่าๆในอดีตเมื่อร้อยกว่าปีที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดี






ในอดีตย่านนี้มีผู้คนจากหลายเชื้อชาติอาศัยอยู่ยาวนานกว่า 100 ปี อาคารบ้านเรือนบริเวณสองฝั่งแม่น้ำวังจึงมี รูปแบบสถาปัตยกรรมผสมผสานระหว่างยุโรป จีน และพม่า ดังนั้น ถนนตลาดเก่าเส้นนี้จึงเต็มไปด้วยบ้านเรือนสวย ๆ หลากสไตล์บ้านเรือนสิ่งก่อสร้าง มีทั้งเรือนแบบไทยภาคกลาง เรือนล้านนา เรือนพม่า ที่ดูจะโดดเด่นเห็นจะเป็น เรือน แบบจีน และเรือนขนมปังขิงแบบฝรั่งตะวันตก ทั้งนี้อาจเพราะในสมัยนั้นประเพณีราชนิยมแบบตะวันตก กำลังได้รับความนิยมสูงสุดในภาคกลาง ชาวตะวันตกเข้ามามีความสัมพันธ์กับสยามมากมาย จะด้วยบทบาทใด ก็ตามแต่รูปแบบสถาปัตยกรรมงามแปลกตา ที่นำมาเผยแพร่ก็เป็นที่ถูกใจของชาวสยาม นำมาประยุกต์ใช้สร้าง บ้านเรือนเป็นที่สวยงาม ระบาดไปเกือบทุกพื้นที่ของประเทศ รวมทั้งที่กาดกองต้า ก็มีเรือนฝรั่งผสมจีนแบบนี้ อยู่หลายแห่ง ย่านการค้ากาดกองต้า คึกคักรุ่งเรืองจนถึงยุคสมัยที่การคมนาคมขนส่งทางน้ำหมด ความสำคัญ ลงไป เพราะมีีการคมนาคมทางบกทั้งทางรถไฟและทางรถยนต์เข้ามาแทนที่ กาดกองต้า ก็กลายเป็นย่านเก่าที่ เงียบเหงาซบเซาลงไปตามกาลเวลา






ต่อมาได้มีการตกแต่งบูรณะฟื้นฟูให้อาคารเก่ามีชีวิตชีวาขึ้นมาอีกครั้ง และ กลายเป็นถนนสายวัฒนธรรมที่สวยงามมีเอกลักษณ์ ยิ่งเมื่อได้มีการปลุกฟื้นชีวิตชีวาด้วยการจัดถนนคนเดิน ในช่วงคืนทุกวันเสาร์และอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 17.00 น. - 22.00 น. ก็ยิ่งทำให้ผู้มาเดินเที่ยวชมและ พ่อค้าแม่ค้าที่ นำสินค้า มาวางขายต่างหวนระลึกถึงบรรยากาศเก่าๆในอดีตเมื่อร้อยกว่าปที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดีเป็น มรดกล้ำค่าี และแม่เหล็กดึงดูด นักท่องเที่ยว ผู้โหยหาอดีตอันคลาสสิก การเดินชมกาดกองต้าในวันนี้ ต้องถือว่าเป็นรายการ ท่องเที่ยวเมืองลำปางที่ต้องไม่พลาดชม และมีบรรยากาศหลากหลายให้เลือกสัมผัส










ลำปางยังมีแหล่งท่องเที่ยวมากมายทั้งทางธรรมชาติ เช่นอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อนที่เป็นธรรมชาติสวยงามมากท่ามกลางขุนเขา มีแหล่งท่องเที่ยวทางศิลปวัฒนธรรม เช่น วัดพระธาตุลำปางหลวง วัดคู่บ้านคู่เมืองของชาวลำปาง มีมาตั้งแต่สมัยพระนางจามเทวีในราวพุทธศตวรรตที่ 20 งดงามด้วยสถาปัตยกรรมเก่าแก่มากมาย

ลำปางเป็นเมืองรองที่ต้องไปเที่ยวให้ได้ เพราะเป็นเมืองรถม้าที่ไม่เปลี่ยนไปตามกาลเวลาที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แกลอรี่รูปภาพTiewZogZag