นครพนม...ถือได้ว่าเป็นจังหวัดที่มีความสุขที่สุด จังหวัดหนึ่งในประเทศไทย ตามสโลแกนที่ว่า "สุขที่สุด@นครพนม" เป็นเมืองที่สงบเงียบริมฝั่งแม่น้ำโขง อยู่ตรงข้าม ท่าแขก แขวงคำม่วน ของ สปป.ลาว ที่นี่จะมองเเห็นวิวเทือกเขาสลับซับซ้อนที่ฝั่ง สปป.ลาว แขวงคำม่วน ได้อย่างสวยงาม
นครพนม เป็นจังหวัดที่เหมาะสำหรับการท่องเที่ยวแบบใช้ชีวิตเนิบช้าไม่เร่งรีบ ค่อยๆซึมซับวัฒนธรรมดั่งเดิมอันสวยงาม ผู้คนที่นี่ยิ้มแย้มแจ่มใส เป็นมิตรกับคนต่างถิ่นที่ไปเยือน
เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมาผมมีโอกาสไปเยือนจังหวัดนครพนมอีกครั้ง ผมได้ไปสัมผัสหนาวแรกของปีที่นั่น อุณภูมิอยู่ที่ 17 องศาเซียนเซียส ในขณะที่ยืนรอตักบาตรหน้าวัดมหาธาตุ
ถ้าใครมีโอกาสเดินทางไปเที่ยวนครพนม ถ้าจะตักบาตรเช้า ผมแนะนำให้ไปรอริมฝั่งแม่น้ำโขงหน้าวัดมหาธาตุเลยครับ พระจะเดินออกจากวัด แล้วเดินเลาะริมฝั่งแม่น้ำโขง เพื่อรับบิณฑบาตรจากญาติโยม...เป็นภาพที่สวยงามมาก ซึ่งหาดูได้ยากแล้วที่จะเห็นพระเดินเป็นแถวยาวในสังคมเมืองปัจจุบัน
ริมฝั่งโขงยามเช้า ในขณะรอตักบาตร
พระจากวัดหาธาตุ และวัดใกล้เคียงจะเดินมาบิณฑบารตริมฝั่งน้ำโขงเป็นภาพที่สวยงามมาก
นครพนม...นอกจากเป็นเมืองที่สงบเงียบ มีทิวทัศน์ที่่สวยงามแล้ว ยังเป็นดินแดนแห่งพระธาตุศักดิ์สิทธิ์ นอกจากพระธาตุพนมปูชนียสถานคู่บ้านคู่เมืองอันมีชื่อเสียงแล้วยังเป็นที่ประดิษฐานของพระธาตุประจำวันเกิดที่แสนงดงามทั้ง 7 วัน อีกทั้งยังมากไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่ทรงคุณค่า เต็มไปด้วยสถาปัตยกรรมเก่าแก่น่าเยี่ยมชม จนทำให้ผู้คนให้คำจำกัดความของจังหวัดนครพนม ว่า..."เมืองแห่งความสุข"
วัดมหาธาตุ ที่ผมไปยืนรอตักบาตรริมแม่น้ำโขง เป็นวัดที่มีพระธาตุองค์เดียวที่อยู่ในเขตตัวเมืองจังหวัดนครพนม เรียกว่าพระธาตุนคร เป็นพระธาตุประวันเกิดผู้ที่เกิดวันเสาร์ เชื่อกันว่าผู้ที่ได้มานมัสการพระธาตุนคร จะได้รับอานิสงส์ มีความสุขสวัสดิ์ มีความมั่งคั่งร่ำรวย สุขภาพแข็งแรงเสริมบารมี อำนาจวาสนา เป็นเจ้าคนนายคน
วัดมหาธาตุ พระธาตุนคร พระธาตุประจำวันเสาร์
ยืนอยู่ฝั่งแม่น้ำโขงฝั่ง นครพนม จะเห็นทิวทัศน์ฝั่ง สปป.ลาวสวยงาม
บริเวณถนนเลียบริมแม่น้ำโขง มีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ ซึ่งเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของนครพนมคือ "พญาศรีสัตตนาคราช" ประดิษฐานโดดเด่นงามสง่าริมฝั่งแม่น้ำโขง บนลานศรีสัตตนาคราช หน้าสำนักงานป่าไม้ถนนสุนทรวิจิตร ในเขตะทศบาลเมืองนครพนม เป็นองค์พญานาคทองเหลืองที่ใหญ่ที่สุดของภาคอิสาน
พญาศรีสัตตนาคราช มีความเด่นสง่าเพราะมี 7 เศียร ลำตัวเดียว ผู้คนมักเดินทางมาบนบานศาลกล่าวและขอพร เพราะเชื่อว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ ทำให้บรรยากาศบริเวณนี้จึงดูคึกคักเป็นพิเศษ
บริเวณลาน พญาศรีสัตตนาคราช จังหวัดนครพนม
อุโมงค์นาคราช เส้นทางปั่นจักรยานริมโขง
อุโมงค์นาคราช เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางปั่นจักรยานริมแม่น้ำโขงของจังหวัดนครพนม เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสกับความงดงามของฝั่งแม่น้ำโขงมากยิ่งขึ้น จึงได้มีการจัดทำเส้นทางจักรยานซึ่งมีความยาวกว่า 70 กิโลเมตร ซึ่งอุโมงค์นาคราช ก็เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางจักรยานริมแม่น้ำโขงที่มีความสวยงามนี้เช่นกัน
อุโมงค์นาคราช อุโมงค์จักรยานริมฝั่งแม่น้ำโขง
สะพานมิตรภาพไทยลาว
นครพนม ถือได้ว่ามีเป็นจังหวัดที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ถึง 7 กลุ่มชาติพันธุ์ อาทิ กลุ่มชาติพันธุ์ผู้ไทย,กลุ่มชาติพันธุ์ไทยญ้อ,กลุ่มชาติพันธุ์ไทยกระเลิง,กลุ่มชาติพันธุ์ไทยแสก,กลุ่มชาติพันธุ์ไทยโส้หรือไทยกระโซ่,กลุ่มชาติพันธุ์ไทยข่า และ กลุ่มชาติพันธุ์ไทยอิสาน
ไปนครพนมครั้งนี้ผมมีโอกาสไปท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ไปชมวิถีไทยญ้อ ที่บ้านโพน อำเภอท่าอุเทน ซึ่งอยู่ห่างออกไปจากตัวจังหวัดประมาณ 26 กิโลเมตร ผมได้ทราบเรื่องราวคร่าวๆ จากมัคกุเทศน์น้อยชาวบ้านโพนว่า ชาวเมืองท่าอุเทนเดิมมีถิ่นฐานที่เมืองหงสาวดี แขวงไชยบุรี ดินแดนตอนเหนือของเมืองหลวงพระบาง ในพระราชอาณาจักรลาวปัจจุบัน
ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น จากชาวไทยญ้อ บ้านโพน อำเภอท่าอุเทน
ศาลาไม้แบบไทยญ้อ
อาหารพื้นถิ่นไทยญ้อ รสชาดอร่อยมาก
พระบาง พระไม้แกะสลักที่วัดคามวาสี บ้านโพน ท่าอุเทน
การแสดงต้อนรับชาวคณะสื่อมวลชนและนักท่องเที่ยวอย่างอบอุ่น
สักการะ...พระธาตุท่าอุเทน พระธาตุประจำคนเกิดวันศุกร์
ในทริปนี้ผมโชคดีอีกครั้ง นอกจากจะได้สักการะ พระธาตุพนม ซึ่งเป็นพระธาตุประจำปีเกิดของผมแล้ว (ปีวอก) ผมยังมีโอกาสได้ไปสักการะ "พระธาตุท่าอุเทน" ซึ่งเป็นพระธาตุประจำวันเกิดของผมอีกด้วย (วันศุกร์)
พระธาตุท่าอุเทน ตั้งอยู่ภายในวัดท่าอุเทน อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม ใกล้กับที่ว่าการอำเภอท่าอุเทน องค์พระธาตุก่ออิฐถือปูนเป็นผังรูปสี่เหลี่ยมคล้ายพระธาตุพนมสร้างเป็น 3 ชั้น ชั้นแรกเป็นอุโมงค์บรรจุของมีค่าต่าง ๆ ชั้นที่ 2สร้างครอบอุโมงค์ ชั้นที่ 2 คือเจดีย์องค์ใหญ่ สูงประมาณ 15 เมตร พระอาจารย์ศรีทัตถ์เป็นผู้สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2454 พระธาตุนี้เป็นศิลปกรรมและปูชนียสถานอันสำคัญยิ่งองค์หนึ่ง บรรจุพระธาตุของพระอรหันต์ ซึ่งพระอาจารย์ศรีทัตถ์ได้อัญเชิญมาจากเมืองย่างกุ้ง จะมีงานนมัสการพระธาตุในวันขึ้น 13 ค่ำ ถึงแรม 1 ค่ำ เดือน 4 ของทุกปี
พระธาตุองค์นี้มีสิ่งที่ตรงกับเทพประจำวันศุกร์ และเชื่อกันว่าผู้ที่เกิดวันนี้เป็นผู้ที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ รักอิสระ รักสวยรักงาม คือพระธาตุหันไปทางทิศเหนือของพระธาตุพนม ตรงกับทิศประจำของพระศุกร์ ผู้ที่ไปนมัสการพระธาตุแห่งนี้จะได้รับอานิสงส์ให้ชีวิตมีความรุ่งโรจน์ เปรียบเสมือนพระอาทิตย์ขึ้นยามรุ่งอรุณ
พระธาตุท่าอุเทน(กำลังบูรณะ) พระธาตุประจำวันศุกร์
กุฎิเก่าหลวงพ่อสีทัต ผู้สร้างพระธาตุท่าอุเทน
นมัสการพระธาตุพนม และห่มผ้าองค์พระธาตุ
ผมโชคดีอีกแล้ว เมื่อได้มีโอกาสมานมัสการพระธาตุประจำปีเกิดผมเองคือปีวอกนอกเป็นพระธาตุประจำปีวอกแล้ว พระธาตุพนมยังเป็นพระธาตุประจำวันคนที่เกิดวันอาทิตย์อีกด้วย ทริปนี้นอกจากได้ไหว้พระธาตุ ยังมีโอกาสได้ห่มผ้าพระธาตุอีกด้วย การได้ห่มผ้าพระธาตุถือเป็นสิริมงคลของชีวิตอย่างยิ่ง
พระธาตุพนม ตั้งอยู่ภายใน วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร ณ ริมฝั่งแม่น้ำโขง ตำบลธาตุพนม อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม โดยเป็นพระธาตุที่มีประวัติความเป็นมาอย่างยาวนาน จนได้รับการยกย่องว่าเป็นพระธาตุที่เก่าแก่มากที่สุดในภาคอีสานอีสาน ซึ่งได้ถูกจารึกไว้ในภาพจิตรฝาหนังภายในพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหารอีกด้วย
ประวัติการก่อสร้างพระธาตุพนมนั้น ได้ถูกกล่าวไว้ว่า พระธาตุพนมเป็นที่ประดิษฐาน พระอุรังคธาตุ (กระดูกส่วนหน้าอก) ของพระพุทธเจ้า ที่พระมหากัสสปะเถระได้นำมาประดิษฐานไว้ โดยองค์พระธาตุถูกสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอาณาจักรศรีโคตรบูรณ์ ประมาณปี พ.ศ. 8 มีแผ่นอิฐที่จำหลักลวดลายเป็นภาพกษัตริย์โบราณ ฝีมือช่างพื้นบ้าน ศิลปะสมัยทวารวดี หรือพุทธศตวรรษที่ 13-14 นับว่าเป็นพระบรมธาตุเจดีย์ที่เก่าแก่ของภาคอีสาน
ไหว้พระธาตุพนมและ ห่มผ้าองค์พระธาตุ เพื่อสิริมงคลของชีวิต
แม้ว่าชาวนครพนม หรือชาวอีสานจะมีพื้นเพมาจากคนหลายกลุ่ม มาตั้งบ้านเรือนในพื้นที่ต่างๆ แต่ด้วยวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่ยึดมั่นในจารีตประเพณีของท้องถิ่น จึงทำให้การดำเนินชีวิตด้วยความสมานฉันน์ปรองดอง ประกอบสัมมาอาชีพอยู่ร่วมกันอย่างผาสุขมาอย่างยาวนาน กลุ่มชาติพันธุ์ไทยข่า (บูร) เป็นอีกหนึ่งกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดนครพนมมาช้านาน
กลุ่มชาติพันธุ์ ไทยข่า บ้านโสกแมว
ไทยข่าเป็นชาวไทยอีกกลุ่มหนึ่งที่ยังพอมีหลงเหลือบ้างในพื้นที่จังหวัดนครพนมแต่ไม่ปรากฏให้เป็นชุมชนชัดเจนจะมีเพียงครอบครัวที่แทรกอยู่ในชุมชนอยู่ในพื้นที่อำเภอนาแกตามหมู่บ้านแถบเทือกเขาภูพาน ซึ่งเป็นรอยต่อกับอำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร อำเภอดงหลวง จะมีชาวข่าอาศัยอยู่มาก ในอดีตจังหวัดมุกดาหารเป็นอีกอำเภอหนึ่งที่ขึ้นต่อจังหวัดนครพนมรวมถึงอำเภอดงหลวงด้วย ปัจจุบันอำเภอมุกดาหารได้เลื่อนเป็นจังหวัด และอำเภอดงหลวงก็ไปขึ้นเป็นสังกัดมุกดาหารด้วย ชุมชนไทยข่าในจังหวัดนครพนมจึงไม่ปรากฏให้เห็นเด่นชัด จึงมีเพียงกระจัดกระจายเป็นบางครอบครัวในชุมชนต่างๆ ดังกล่าวมาแล้ว
ไทยข่ามีถิ่นดั้งเดิมอยู่แขวงสุวรรณเขตสาละวัน และอัตปือ ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และได้อพยพเข้ามาอยู่ในพื้นที่ประเทศไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 เป็นต้นมา
นักมนุษยวิทยาถือว่า ชาวไทยข่าเป็นเผ่าดั้งเดิมในแถบกลุ่มแม่น้ำโขง สืบเชื้อสายมาจากขอมโบราณภายหลังขอมเสื่อมอำนาจลง ภาษาของชาวไทยข่าเป็นภาษาในตระกูลออสโตรอาเชียติก ในสมัยมอญเขมร ชาวไทยข่ามิได้เรียกตัวเองว่าชาวไทยข่า แต่จะเรียกตัวเองว่าพวกบรู
คำว่า ข่า อาจมาจาก ข้าทาส ซึ่งสำเนียงอีสานจะออกเสียง ข่าทาส เนื่องจากในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการจัดพวกบรูมาเป็นข้าทาสรับใช้กันมาก จึงเรียกกันมาว่าไทยข่า
ชาวไทยข่าฟ้อนต้อนรับ
พิธีบายศรีสู่ขวัญของชาวไทยข่า
พิธีเหยา
นั่งรถอีแต๊ก ไปชมวิถีชาวไทยข่า บ้านโสกแมว
วิถีชีวิตชาวไทยข่าบ้านโสกแมว จ.นครพนม
ช่วงเย็นผมมีโอกาสไปเดินชมงาน กลุ่มจังหวัดสนุก (สกลนคร นครพนม มุกดาหาร) รวมตัวกันภายใต้โครงการท่องเที่ยวกลุ่มจังหวัดสนุก ตามรอยอารยธรรมลุ่มน้ำโขง (ธรรมะ ธรรมชาติ วัฒนธรรม) สู่สากล โดยนำวิถีประเพณีวัฒนธรรมอันเป็นอัตลักษณ์และเอกลักษณ์ในความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีความโดดเด่นในพื้นที่กลุ่มจังหวัดสนุก อันได้แก่ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร มาสร้างสรรค์ พัฒนาเป็นสินค้ากิจกรรมทางการท่องเที่ยวเพื่อนำเสนอให้แก่นักท่องเที่ยวและประชาชนทั่วไป ได้รับรู้และเดินทางไปสัมผัสประสบการณ์ท้องถิ่นโดยการมีส่วนร่วมในชุมชนที่เป็นถิ่นอาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆในแต่ละพื้นที่
กลุ่มจังหวัดสนุก อันประกอบด้วย สกลนคร นครพนม มุกดาหาร (เดิมรวมจังหวัดกาฬสินธุ์) นั้นมีความโดดเด่นด้วยความหลากหลายของชาติพันธุ์ถึง 9 ชนเผ่า 2 เชื้อชาติ ได้แก่ ชนเผ่า ไทยลาว(อีสาน) ผู้ไทย ไทยย้อ ไทยโส้ (กะโซ่) ไทยกะเลิง ไทยข่า (บูร) ไทยกวน ไทยแสก ไทยโย้ย เชื้อชาติจีนและเวียดนาม ซึ่งมีถิ่นฐานอาศัยกระจายกันอยู่ในพื้นที่ทั้ง 3 จังหวัดซึ่งมีประวัติความเป็นมายาวนาน และมีวิถีวัฒนธรรมและภูมิปัญญาประจำถิ่นที่ใกล้เคียงกัน ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิตความเป็นอยู่ เทศกาล งานประเพณี พิธีกรรมด้านความเชื่อและความศรัทธา โดยเฉพาะงานหัตถศิลป์อันยอดเยี่ยม เช่น งานทอผ้า งานใบตอง งานจักสาน งานเพลง งานดนตรี การแสดง การขับร้อง และศิลปะการทำอาหาร ซึ่งเป็นเสน่ห์เฉพาะถิ่นในการดำรงชีวิตประจำวันอย่างมีความสุข
นายรัชต สำราญชลารักษ์ ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครพนม กล่าวว่า สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครพนม จึงจัดกิจกรรม “มหกรรมท่องเที่ยววิถีชนเผ่า งานศิลป์ถิ่นสนุก” ขึ้นเพื่อเป็นการพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชน และสร้างเครือข่ายทางการท่องเที่ยวให้เกิดสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ (Creative Tourism) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 23-26 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ณ ถนนสุนทรวิจิตร บริเวณลานพญาศรีสัตตนาคราช อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม
ภาพ สาริตา โสรัสสะ
นายสมชาย วิทย์ดำรงค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม กล่าวว่า “มหกรรมท่องเที่ยววิถีชนเผ่า งานศิลป์ถิ่นสนุก” จัดขึ้นภายใต้แนวคิด SANUK IS WONDERFUL มหัศจรรย์ถิ่นสนุก โดยใช้สโลแกน “สะออนคัก ฮักเมืองสนุก” อาทิ มหัศจรรย์ของกิน @ถิ่นสนุก (Wonderful Taste) มหัศจรรย์สินค้า@ถิ่นสนุก (Wonderful Products) มหัศจรรย์สนุกรู้วิถีศิลป์ ถิ่นสนุก (Wonderful Land of Art) มหัศจรรย์เที่ยวสุดฟิน@ถิ่นสนุก (Wonderful of Life) มหัศจรรย์ธรรมชาติ มหัศจรรย์แดนธรรมะ มหัศจรรย์วิถีถิ่น เป็นต้น
การแสดงบนเวที
ในงานผม มีโอกาสได้ฟังการเสวนาหัวข้อศาสตร์พระราชากับการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืน เขตพัฒนาการท่องเที่ยวลุ่มน้ำโขง จัดที่นครพนมโดยมีผู้ร่วมเสวนา คุณสมชาย ชมภูน้อย ผู้อำนวยการภูมิภาคภาคอีสาน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) คุณสุเทพ เกื้อสังข์ รองผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) คุณสาธิตา โสรัสสะ ประธานมีเดีย แอนด์ บล็อกเกอร์ คลับ
การเสวนาหัวข้อศาสตร์พระราชากับการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืน เขตพัฒนาการท่องเที่ยวลุ่มน้ำโขง
ในงานมีการแสดงสินค้าพื้นเมือง ของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ
ก่อนจบทริป เรามีโอกาสไปที่หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงบ้านนาดี สัมผัสวิถีวัฒนธรรม และชมการแสดงของกลุ่มชาติพันธิ์ไทยโส้ (โส้ทั่งบั้ง) และพิธีเหยา ของไทยโส้
การแสดงของกลุ่มชาติพันธิ์ไทยโส้ (โส้ทั่งบั้ง) และพิธีเหยา
สุขใจทุกครั้งเมื่อผมมีโอกาสไ
หนาวแรกนครพนม...จังหวัดสนุกตามรอยอารยธรรม...ลุ่มน้ำโขง
เที่ยวซอกแซกไปกับ"ชายสามหยด"
https://www.facebook.com/ZogZagTravelling/
1 ความคิดเห็น:
บอกตามตรงนะ ผมอ่านบทความแบบผ่านๆ เพราะข้อมูลก็พอรู้มั่งแระ แต่ภาพที่ท่านชายสามฯ ถ่ายทอดมานี่สิ มันทำให้ผมมองข้ามบทความบางส่วนไปเลย ภาพเล่าเรื่องได้งดงามจริงๆ ครับ
แสดงความคิดเห็น