ชุมชนในเมืองไทยมีนับร้อยนับพันแห่งทั่วทุกภูมิภาค ไล่ตั้งแต่เหนือจรดใต้ ตะวันออกจรดตะวันตก รวมถึงภาคกลางและภาคอีสาน ซึ่งแต่ละแห่งล้วนแล้วแต่มีวิถีทางและแง่งามตามแบบฉบับของตนเอง
การเดินทางไปท่องเที่ยวในแต่ละชุมชนถือเป็นการเรียนรู้ที่ดีอย่างหนึ่งในการทำความรู้จัก ทำความเข้าใจระบบความคิด ความเชื่อของผู้คนในท้องถิ่นต่างๆ ทั้งยังเป็นการสร้างมิตรภาพด้วยการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมอันดีงามซึ่งกันและกัน พร้อมๆ ไปกับการเรียนรู้ผู้คนผ่านรูปแบบวิถีชีวิตที่แตกต่างกันออกไปตามสภาพความเป็นอยู่ในแต่ละท้องถิ่น
บางแห่งชีวิตของผู้คนผูกพันกับวิถีประมงและความอุดมสมบูรณ์ของป่าชายเลน บางแห่งมีป่าต้นน้ำเป็นบ้าน บางแห่งภาพงามถูกถ่ายทอดผ่านขนบประเพณีเก่าแก่ดั้งเดิม บางแห่งแม้การนับถือศาสนานั้นแตกต่าง แต่ไม่ได้ทำให้คนในชุมชนแตกแยก บางแห่งการเคลื่อนไหวของชีวิตเป็นไปอย่างเรียบง่ายเนิบช้าท่ามกลางหุบเขาดงดอย
สัปดาห์ที่ผ่านมาผมมีโอกาสเดินทางไปท่องเที่ยวชุมชนเลาะริมฝั่งทะเลอันดามัน ถึง 10 ชุมชน ใน 5 จังหวัด คือ ภูเก็ต,พังงา,กระบี่,ตรัง และ สตูล ซึ่งการท่องเที่ยวในแต่ละชุมชน ของแต่ละจังหวัดมีอัตลักษณ์ที่โดดเด่นแตกต่างกันไป
การเดินทางไปท่องเที่ยวชุมชนชายฝั่งทะเลอันดามันของผมในครั้งนี้เป็นการท่องเที่ยวในแบบ FAM Trip ซึ่งเป็นหนึ่งในอีกหลายกิจกรรม ตามโครงการพัฒนาเครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชน เขตพัฒนาการท่องเที่ยวอันดามัน ซึ่งจัดโดย สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดภูเก็ต และเป็นเจ้าของโครงการนี้
ในการเดินทริปนี้ทาง สมาคมท่องเที่ยวไทยเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (สทอ.) หรือ Thai Ecotourism and Adventure Travel Association (TEATA) ซึ่งเป็นศูนย์รวมของผู้ประกอบการจากวงการท่องเที่ยวที่มีความสนใจ ในการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ทั้งธรรมชาติ,วิถีชุมชน (วัฒนธรรมท้องถิ่นและประเพณี)และนิยมท่องเที่ยวแบบผจญภัย (Soft Adventure) ได้นำสมาชิกซึ่งเป็นผู้ประกอบการในกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวเดินทางล่องท่องชุมชนอันดามัน ศึกษาแนวทางเพื่อนำนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ เดินทางมาเยือนชุมชนต่างๆ ในอนาคตข้างหน้าอีกด้วย
ทั้ง 10 ชุมชน ใน 5 จังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามันที่ผมไป ล้วนน่าสนใจ และน่าท่องเที่ยว เริ่มจากชุมชนแรก หลังจากที่ลงเครื่องที่สนามบินนานาชาติภูเก็ต ในเวลา 08.30 น. ก็ออกเดินทางสู่ท่าเทียบเรืออ่าวฉลอง ลงเรือหัวโทงมุ่งหน้าสู่...ชุมชนท่องเที่ยวบ้านเกาะโหลน ตำบลราไวย์ ทันที
ลงเรือที่ท่าเทียบเรือ อ่าวฉลอง มุ่งสู่ ชุมชนท่องเที่ยวบ้าน เกาะโหลน
ชุมชนท่องเที่ยว...บ้านเกาะโหลน
เรานั่งเรือหัวโทง ออกจากท่าฉลองไปทางทิศใต้ของเกาะภูเก็ตในระยะทาง 11 กิโลเมตรใช้เวลาเดินทางประมาณ 10 กว่านาที ก็ถึงเกาะโหลน
ชุมชนท่องเที่ยว บ้านเกาะโหลน เป็นชุมชนต้นแบบตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังคง ทำอาชีพประมงชายฝั่ง เช่นอดีตที่ผ่านมา เกาะโหลนเป็นเกาะที่สงบเงียบ ยังคงความเป็นธรรมชาติที่น่าสัมผัส การท่องเที่ยวเกาะโหลน นอกจากพักผ่อนเล่นน้ำอย่างสงบเงียบแล้ว นักท่องเที่ยวยังสามารถได้เรียนรู้ถึงวิถีชีวิตของชาวบ้านที่แทบจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากอดีตมากนัก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำมาหากิน อาหาร หรือขนมต่างๆ ยังคงเป็นแบบดั้งเดิม นักท่องเที่ยวสามารถเรียนรู้ และลงมือทำได้ด้วยตัวเอง ซึ่งถือเป็นรูปแบบเฉพาะของการท่องเที่ยว วิถีชุมชน
ถึงท่าเทียบเรือ บ้านเกาะโหลน
บังทรงสิทธิ์ บุญผล ผู้นำชุมชนบ้านเกาะโหลน เล่าตำนานเกี่ยวกับเกาะโหลน ให้พวกเราฟังว่า...
ในอดีตเมื่อร้อยปีก่อน ได้มีชาวบ้านจากจังหวัดสตูลชื่อ โต๊ะนางู้ เดินทางมาตั้งบ้านเรือนอยู่บนเกาะโหลนซึ่งมีสภาพเป็นป่า ต่อมาคนภายนอกเห็นว่ามีคนอยู่ก็พากันมาสร้างบ้านเรือน บ้านเกาะโหลนจัดตั้งเป็นทางการ เมื่อปี พ.ศ.2480 มีผู้ใหญ่บ้านคนแรกชื่อนาย ดล สองเมือง มีประชากร 33 ครัวเรือน
และที่เรียกว่าบ้านเกาะโหลน ผู้นำชุมชนเล่าว่า พอถึงฤดูทำนาชาวบ้านใกล้เคียงกลัวว่าควายที่เลี้ยงไว้จะกินข้าวในนา ก็พาควายที่เลี้ยงไว้กรรเชียงเรือ จูงควายว่ายน้ำมาปล่อยไว้บนเกาะโหลน พอหมดฤดูทำนาเจ้าของควายก็จะพาควายกลับแต่มีควายที่หลุดเชือก กลายเป็นควายเถื่อนอยู่บนเกาะโหลน ควายเถื่อนพวกนี้กินต้นไม้บนเกาะ ทำให้โลนเตียนจึงได้เรียกว่า "บ้านเกาะโหลน"
น้ำมะพร้าวหอมหวานชื่นใจ จากชาวเกาะโหลน
ทริปท่องเที่ยวชุมชนบ้านเกาะโหลนของผม เป็นทริปท่องเที่ยวสั้นๆ เพียงแค่ไม่กี่ชั่วโมงแต่ก็ได้เรียนรู้ ซึบซับในวิถีของชาวอูรักลาโว้ย ที่อยู่บนเกาะได้หลายอย่าง ได้เห็นการทำขนมโค โบราณ ที่มีต้นกำเนิดมาจากแถบมลายู ชาวมลายูรู้จักขนมชนิดนี้ในชื่อ Onde Onde หรือ Buah Malaka หน้าตาคล้ายขนมต้มของไทยเรา และยังมีการห่อขนมข้าวต้มใบมะพร้าว และการมัดย้อมบาติก
ขนมข้าวต้มใบมะพร้าว
การทำมัดย้อมผ้าบาติก
ในส่วนของผ้าบาติกที่นี่มีลายเอกลักษณ์เฉพาะของเกาะโหลน คือลายหมึกโวยวาย หรือที่ชาวเกาะโหลนเรียกกันว่า "นอย่า" และยังมีลายอื่นๆ อีก เช่น ลายนกเงือก ที่สามารถพบได้บนเกาะโหลน ลายปะการัง ลายเรือโบราณ รวมทั้งยังสอนวิธีทำผ้ามัดย้อม ซึ่งสามารถย้อมสีธรรมชาติได้ ทางคณะเราได้ลงมือทำผ้าเช็ดหน้ามัดย้อมคนละผืน ติดไม้ติดมือกลับบ้านกันไปครับ
สอนการห่อข้าวต้มใบมะพร้าว
ทำขนมโค
อาหารมื้อกลางวันแสนอร่อย บนเกาะโหลน
เกาะโหลน...เป็นเกาะที่มีแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงาม เป็นเกาะที่ยังคงมีบรรยากาศเงียบสงบ นักท่องเที่ยวไม่มากนัก เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการหลีกหนีความวุ่นวายในตัวเมืองภูเก็ต เนื่องจากยังไม่มีการพัฒนามากนัก โดยทางชายฝั่งทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะมีชายหาดที่ยาวมาก มักเป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยวที่ต้องการความสงบและรักสันโดษ
ก่อนเดินทางกลับสู่เกาะแม่ภูเก็ต คณะเรามีโอกาสแวะไปดูกระชังเลี้ยง"กุ้งมังกรเจ็ดสี" โดยวิสาหกิจชุมชนเกาะโหลน ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ได้มีการศึกษาและส่งเสริมให้มีการเลี้ยงกุ้งมังกรเจ็ดสีเพื่อสร้างรายได้ให้ชุมชนและชาวประมงเกาะโหลน...เห็นว่าราคากุ้งมังกรเจ็ดสีเมื่อนำไปขายกิโลกรัมละ 2-3 พันบาทเลยทีเดียว
แวะชมกระชังเลี้ยงกุ้งมังกรเจ็ดสี ที่ชาวเกาะโหลนเพาะเลี้ยง
รวมหมู่บนเกาะโหลน ก่อนกลับ
ชุมชนท่องเที่ยวย่านเมืองเก่า...ภูเก็ต
เราเดินทางกลับจากเกาะโหลนขึ้นที่ท่าเทียบเรืออ่าวฉลองเช่นเคย ในช่วงบ่ายแก่ๆ ในเดียวกัน เรามีโปรแกรมไปเดินเที่ยว "ชุมชนท่องเที่ยวย่านเมืองเก่าภูเก็ต"
"ยลเมืองเก่า เล่าความหลัง สัมผัสวิถี แห่งเมืองทุ่งคา"
ภูเก็ต ถือได้ว่าเป็นดินแดนแห่งไข่มุกอันดามันอันอุดมสมบูรณ์ มากมายไปด้วยทรัพยากรทั้งทางบกและทางทะเล เป็นสวรรค์ของนักท่องเที่ยวที่ต้องหาโอกาสเดินทางมาเยือนสักครั้งในชีวิต นอกจาก ชายหาดขาว ทะเลสวย เกาะแก่งงาม อาหารอร่อย ที่เป็นที่ต้องตาต้องใจของนักท่องเที่ยวแล้ว ยังมีชุมชนท่องย่านเมืองเก่า ที่หล่อหลอมวัฒนธรรมหลากหลายรูปแบบมารวมกัน จนเป็นชุมชนเมืองที่ดูมีเสน่ห์น่าสัมผัส
เราเริ่มต้นท่องเที่ยวชุมชนย่านเมืองเก่าภูเก็ต ที่ "พิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัว" ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมเรื่องราวของย่านเมืองเก่าและวิถีชีวิตวัฒนธรรมของชาวจีนโพ้นทะเล ที่อพยพมาทำเหมือง อาคารของพิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัว นับเป็นหนึ่งในอาคารชิโน-โปรตุกีส ที่สวยงามของย่านเมืองเก่าภูเก็ต จนได้รับการรับรองจากสมาคมอิโคโมสไทยว่าเป็นสถาปัตยกรรมที่ทรงคุณค่ายิ่งแห่งหนึ่ง
ภายในตัวอาคารพิพิธภัณฑ์จัดแสดงเรื่องราวของวิถีชีวิตความเป็นมาตั้งแต่ครั้งอดีตของภูเก็ตไว้อย่างละเอียดลออในลักษณะแหล่งเรียนรู้ชุมชน มีห้องนิทรรศการต่างๆ ให้ชมเพื่อศึกษาค้นคว้าได้ถึง 13 ห้อง เช่นห้องที่ 1 "จากแดนพญามังกร" ซึ่งพูดถึงเส้นทางการเดินทางของชาวจีนที่มาถึงเกาะภูเก็ตในแต่ละยุค และร้อยเรื่องราวให้นักท่องเที่ยวที่มาดูเข้าใจถึงความสัมพันธ์ไทย-จีน
วิถีชีวิตคนภูเก็ต เครื่องแต่งกาย บุคคลสำคัญต่างๆ ในอดีต เรื่องราวของอาคารชิโน-โปรตุกีส ไปจนถึงห้องที่ 13 ซึ่งนำเสนอเรื่องราวของอาหารท้องถิ่นคาวหวานต่างๆ เพื่อให้ผู้คนรุ่นหลังได้ย้อนระลึกถึงรากเหง้าอดีตความเป็นมาของ "ภูเก็ต"
ใครมีโอกาสมาท่องเที่ยวภูเก็ต แล้วมาที่อาคาร"พิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัว"แห่งนี้ จะได้ทำความรู้จักอัตลักษณ์ตัวตนของ "ภูเก็ต" ก่อนที่จะเดินทางท่องเที่ยวตามหาอดีตที่เรืองรองอยู่จนถึงปัจจุบัน
หน้าอาคาร "พิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัว"
เมื่อเราเยี่ยมพิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัว และรู้ถึงความเป็นมาของชาวภูเก็ตเรียบร้อยแล้วทางผู้นำชุมชน นำเราเดินออกสู่ถนนกระบี่
บนถนนกระบี่แห่งนี้ จะมองเห็นตึกแถวสร้างเรียงรายติดต่อกันและมักเป็นสองชั้น ด้านล่างใช้ค้าขาย ส่วนด้านบนใช้สำหรับอยู่อาศัย หน้าอาคารบางหลังจะเห็นลวดลายแบบจีนของบานประตูชั้นล่าง
หน้าอาคารบางหลังจะเห็นลวดลายแบบจีนของบานประตูชั้นล่าง
เราเดินเข้าซอยแคบๆ ขนาดรถเก่งคันเล็กๆวิ่งได้ ทะลุซอยออกมาตลาดดาวน์ทาวน์ จะเห็น Street Art ภาพน้องมาร์ดี้บนผนังตกเก่าซึ่งเป็นฝีมือสร้างสรรค์ความสวยงามโดยศิลปิน Alex Face หรือพัชรพล แตงรื่น ในชุดบาบ๋า สีชมพูสวยงาม น้องมาร์ดี้กำลังเข็นรถรถเข็น สะท้อนความเป็นอยู่ในวิถีชีวิตประจำวัน ที่เรียบง่ายของชาวภูเก็ต
น้องมาร์ดี้ ในชุดบาบ๋า สีชมพูสวยงาม
การที่เราได้ท่องเที่ยวกับคนในชุมชน ทำให้เรามีโอกาสเข้าไปชมภายในบ้านเก่าแก่ในชุมชนและฟังเรื่องราวความเป็นมา ในอดีตอย่างละเอียด ลึกซึ้ง เช่น "บ้านพระพิไสย" หลังนี้
บ้านพระพิไสย
ผมมีโอกาสเข้าไปในร้าน "i 46 Old Town Cafa" ที่นี่เป็นบ้านเก่าของครอบครัวชาวภูเก็ตแท้ๆ เปิดบ้านเป็นร้านกาแฟ เราสามารถเดินเล่นเข้าไปดูบ้าน และนั่งตรงกลางบ้านได้เลย ที่นี่ต้อนรับเราอย่างดีด้วยขนมโบราณ ที่หากินได้ยาก และโกปี้ รสอร่อย เข้ม หวาน มีให้เลือก
หากใครมีโอกาสไปพักในเมืองภูเก็ต ลองไปนั่งร้าน "i 46 Old Town Cafa" ดูครับท่าทางจะชิลล์มาก บรรยากาศเป็นกันเองสุดๆ
ขนมโบราณ กินกับโกปี้รสเข้ม อร่อยมาก
ร้าน " i 46 Old Town Cafa"
หลากหลายเรื่องราวย่านชุมชนเมืองเก่า ภูเก็ต
หลายคน ไปเยือนภูเก็ตคงเคยไปเดินชม เดินถ่ายภาพเซลฟี่ที่ย่านเมืองเก่ากันมาบ้าง...แต่ก็มีนักท่องเที่ยวอีกมากมายที่ไม่เคยเที่ยวย่านเมืองเก่าแบบลึกซึ้ง ในทุกซอกมุม...ถ้ามีโอกาสได้เดินเที่ยวกับชาวชุมชนย่านเมืองเก่าภูเก็ต เราจะได้อรรถรส และกลิ่นอาย ของเมืองเก่าจริงๆครับ
การท่องเที่ยวชุมชนย่านเมืองเก่าภูเก็ตถือเป็นอีกหนึ่งตัวเลือก ของการท่องเที่ยว ซึ่งทางชุมชนจัดให้มีเส้นทางเดินชมย่านเมืองเก่า เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสกับความสวยงามของบ้านเรือนเก่าแก่ของภูเก็ต และสถาปัตยกรรมชิโน-โปรตุกีส ที่สวยงาม พร้อมๆกับได้สัมผัสวัฒนธรรมและวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ ของคนภูเก็ต และที่สำคัญ อาหารที่นี่อร่อยเลื่องชื่อ...การเดินชมเมืองเก่า เสน่ห์แห่ง ชิโน-โปรตุกีส ถือเป็นเส้นทางประวัติศาสตร์ที่ควรค่าแก่การศึกษา
บรรยากาศย่านเมืองเก่าภูเก็ต
หลังร้าน โกปี้เตี่ยม ทะลุไปเป็นศาลเจ้า
ชมบรรยากาศย่านเมืองเก่าภูเก็ตไปเรื่อยๆ ครับ
จากถนนกระบี่ เราเดินเข้าสู่ถนนถลาง ใกล้ๆ กับตรงแยกเข้าซอยรมณีย์ จะเห็นภาพ Street Art น้องมาร์ดี้ ใส่ชุดขนมเต่าสีแดง มีคำว่า "สมหวัง" อยู่ตรงหางเต่า ขนมเต่าแดงจะใช้ในเทศกาลพ้อต่อ ซึ่งเป็นเทศกาลสำคัญของคนภูเก็ต ที่เชื่อว่าการถวายขนมเต่าแดง จะสร้างความเป็นสิริมงคลให้ชีวิต
อยู่ใกล้ๆ กับน้องมาร์ดี้ เต่าแดง จะมองเห็นภาพนกอินทรีย์ตัวใหญ่ ภาพนี้ต้องใช้จินตนาการในการสังเกตุสักนิดนึง จะเห็นว่าภาพนกอินทรีย์จะประกอบไปด้วยภาพชิ้นส่วนของขนมวัยเด็ก แทรกอยู่ในภาพนกอินทรีย์ ตัวใหญ่บนผนังตึก
ภาพน้องมาร์ดี้ในชุดขนมเต่าแดง ใกล้ๆกันเป็นภาพนกอินทรีย์
ถัดมาจากภาพ Street Art น้องมาร์ดี้ และนกอินทรีย์ประมาณ 10 เมตร ก็ถึงทางแยกเข้าสู่ซอยรมณีย์...บนเส้นทางถนนถลาง ถือว่าเป็นถนนสายประวัติศาสตร์อันเก่าแก่ของภูเก็ตเลยก็ว่าได้ ตรงช่วงนี้จะเห็นตึกแถวเก่าๆ ที่ยังคงรูปแบบเดิมๆ เกาะกลุ่มกันอยู่เป็นจำนวนมาก รวมถึงร้านค้า ร้านอาหารต่างๆ
นอกจากนี้ยังมีซอยรมณีย์ ซอยเล็กๆระหว่างเส้นถนนถลาง ในซอยมีอาคารหลากสีสัน ทั้งชมพู เหลือง น้ำเงิน อดีตคือย่าน โคมเขียว โคมแดง และย่านโรงฝิ่น
"หั่งอาหล่าย" คือชื่อดั้งเดิมของซอยรมณีย์ ประมาณปี 2445 ซึ่งเป็นยุคที่การทำเหมืองแร่รุ่งเรือง ประชากรอันเนื่องมาจากแรงงานชายในการทำเหมืองมีจำนวนมาก ซึ่งโสเภณี จาก ญี่ปุ่น มลายู มาเก๊า ได้เข้าไปทำมาหากินในเมืองภูเก็ต พระยารัษฎาฯ จึงจัดระเบียบให้ผู้หญิงนั้นอยู่ในบริเวณเดียวกัน แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น "ซอยรมณีย์" ที่แปลว่า น่ารัก น่ายินดี น่าสนุก น่าสบาย เพื่อสะดวกในการควบคุมนั่นเอง
กลิ่นอายในอดีตวันนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง เหลือไว้แต่ความทรงจำเก่าๆ ที่คนรุ่นพ่อ รุ่นแม่ อาจจะเคยเห็นและยังจดจำได้บ้าง ย่านซอยรมณีย์วันนี้กลายเป็นย่านที่มีตึกแถวสวยงามที่สุดย่านหนึ่งของเมืองเก่าภูเก็ต
ภายในซอยรมณีย์
ไต่สุ่นอั้น...ตำนานโรงตีเหล็กแห่งถนนดีบุก
บนถนนดีบุกมีบ้านหลังหนึ่งที่ดูจะแตกต่างจากบ้านเรือน ร้าน รวง หลังอื่นๆ ที่ถูกปรับปรุงตกแต่งให้ดูใหม่ไปตามยุค หากมองจากภายนอกเข้าไปจะเห็นเครื่องไม้เครื่องมือ เตาไฟขนาดใหญ่ กับภาพชายรูปร่างท้วม ใส่กางเกงขายาวสีกรมท่า ไม่สวมเสื้อ กำลังขะมักเขม้นทุ่มแรงไปกับค้อนที่ทุบลงบนทั่ง...ที่นี่คือ "ไต่สุ่นอั้น" โรงตีเหล็กแห่งสุดท้ายที่ยังเหลืออยู่บนถนนดีบุก ถนนที่เป็นร่องรอยของความรุ่งเรืองในยุคเหมืองแร่แห่งเกาะภูเก็ต และช่างตีเหล็กคนนั้นก็คือ คุณมนูญ หล่อโลหะการ หรือแป๊ะโป้ ช่างตีเหล็กผู้สืบทอดโรงตีเหล็กแห่งนี้
ทุกวันนี้โรงตีเหล็กกลายเป็นสิ่งหายาก อาชีพช่างตีเหล็กกำลังจะเหลือเพียงตำนาน เพราะถูกแทนที่ด้วยเครื่องจักรและเทคโนโลยีใหม่ๆ ภูมิปัญญาการตีเหล็กกลับมีคุณค่าในเชิงวัฒนธรรม โรงตีเหล็ก"ไต่สุ้นอั้น" มีบทบาทใหม่กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ในชุมชนย่านเมืองเก่าภูเก็ต
โรงตีเหล็ก "ไต่สุ่นอั้น" ยังสภาพเดิมตามความเป็นจริงเมื่อครั้งอดีต อุปกรณ์ต่างๆทั้งคีมจับเหล็ก ที่เจียเหล็ก เครื่องตัด เครื่องเชื่อมเหล็ก ค้อน ทั่ง ถังน้ำ เตาไฟโบราณ กระถางธูป ถ้วยชาเพื่อบูชาเทพเจ้าประจำเตาไฟ ทุกอย่างคือองค์ประกอบของการทำงาน ที่จัดวางเหมือนพิพิธภัณฑ์ในชีวิตจริงของช่างตีเหล็ก
ที่โรงตีเหล็กแห่งนี้ พร้อมให้นักเดินทางที่อยากเรียนรู้ได้มาสัมผัสและเปิดโอกาสให้คนที่สนใจได้ลองใช้ค้อนลงแรงตีเหล็ก นี่อาจจะเป็นภาพจำหน้าสุดท้ายของโรงตีเหล็ก "ไต่สุ่นอั้น" แห่งนี้ อนาคตยังมองไม่เห็นชัดนักว่าจะยืนหยัดต่อไป หรือถูกปิดฉากลง เหลือเพียงตำนานโรงตีเหล็กที่ไม่มีหลงเหลืออยู่แล้วบนถนนดีบุกแห่งนี้
แป๊ะโป้ ช่างตีเหล็ก แห่งโรงตีเหล็ก "ไต่สุ่นอั้น" บนถนนดีบุก ย่านเมืองเก่าภูเก็ต
น้องแอนนี่... นางฟ้า กู่เจิงแห่งภูเก็ต
เราเดินท่องเที่ยวชมย่านเก่าเมืองภูเก็ต จนมาถึงจุดสุดท้าย ที่นี่เราได้ฟังเพลงบรรเลงจากกู่เจิง อันไพเราะจากสาวน้อยหน้าหวาน น้องแอนนี่ หรืออธิษฐ์รดา จันทร์ชูวณิชกุล เธอเกิดมาพร้อมกับอาการจอประสาทตาเสื่อม เธอมองอะไรแทบไม่เห็น แต่เธอไม่เคยท้อถอย พยายามเรียนจนจบด้านการโรงแรมที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต วันนี้แอนนี่เป็นนักเล่นกู่เจิงที่โด่งดังที่สุดของภูเก็ต
ความไพเราะของเสียงเพลงบรรเลงจากกู่เจิง บวกกับใบหน้าที่ดูอ่อนหวาน และลีลาการกรีดปลายนิ้วที่เคลื่อนไหวไปมาบนเส้นลวดที่ขึงตึงบนแท่นไม้ขนาดใหญ่เบื้องหน้า...ผมมองแทบไม่รู้เลยว่าเธอผู้นี้เป็นผู้พิการทางสายตา
ขอบคุณเรื่องราวดีๆ น่าประทับใจ จาก ชุมชนท่องเที่ยวย่านเมืองเก่าภูเก็ต มากครับ
น้องแอนนี่ หรืออธิษฐ์รดา จันทร์ชูวณิชกุล นักเล่นกู่เจิงที่โด่งดังที่สุดของภูเก็ต
กินผัดหมี่ฮกเกี้ยน ก่อนเดินทางท่องวิถีอันดามันในวันต่อไป
วันเวลาผ่านเลยไปในทุกนาที เรื่องราวต่างๆ ของคนภูเก็ตและบ้านเมืองอันเป็นที่รักของเขาได้ถูกถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น ด้วยความรู้รำลึกที่มาและที่ไปจากอดีตสู่ปัจจุบัน ด้วยเรื่องราวของสถาปัตยกรรมชิโน-โปรตุกีส อันเป็นเอกลักษณ์ของเมืองเก่าภูเก็ต ผ่านวิถีชีวิตวัฒนธรรมความเป็นอยู่ อาหารการกิน เทศกาลประเพณีต่างๆ ที่ลูกหลานคนภูเก็ตยังยึดมั่นด้วยแรงศรัทธาและถือปฏิบัติสืบทอดกันมาช้านาน
ภูเก็ต...เมืองเก่าวันฟ้าใหม่ที่ไม่มีวันดับแสงไปตามกาลเวลา
"ภูเก็ต...เมืองเก่าวันฟ้าใหม่ที่ไม่มีวันดับแสงไปตามกาลเวลา"
ขอขอบคุณ
สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดภูเก็ต
สมาคมท่องเที่ยวไทยเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (TEATA)
ชุมชนท่องเที่ยวย่านเมืองเก่าภูเก็ต
แผนผังท่องเที่ยวชุมชนย่านเมืองเก่าภูเก็ต