วันที่สอง...แห่งการเดิน
วันแรก เราเดินทาง 180 กม.จากเมืองลัคเนาว์ มาชม และสักการะ พระมูลคันธกุฏิ(กุฏิพระพุทธเจ้า) ณ วัดเชตวันมหาวิหาร ซึ่งเป็นวัดที่พระพุทธเจ้าจำพรรษาเป็นเวลานานที่สุด ถึง 19 พรรษา http://zogzagtravelling.blogspot.com/2017/05/blog-post.html (คลิ๊กอ่านได้ที่นี่)
วันที่สอง ของการเดินทาง เพื่อ "ตามรอยพระบาทแห่งองค์พระพุทธศาสดา น้อมสักการะ สังเวชนียสถาน" เริ่มขึ้นตั้งแต่เช้า หลังจากที่เราจัดการกับอาหารเช้า แบบไทยๆ ในโรงแรม ที่เราพัก...ณ เมืองสาวัตถี แล้วก็ทำการเช็คเอาท์ออกจากโรงแรมเลย
เช้าวันนี้ คณะเรามีท่านพระอาจารย์คมสรณ์ เจ้าอาวาสวัดไทยเชตวันมหาวิหาร แห่งเมืองสาวัตถี ร่วมเดินทางไปกลับคณะของเราด้วย ผมรู้สึกเพลิดเพลินจนไม่อยากจะหลับเมื่อบนรถมีท่านพระอาจารย์คอยอธิบายให้ความรู้ ในเรื่องราวต่างหลายๆเรื่อง ทั้งเรื่องชาวอินเดีย ความเป็นอยู่ วิถีชีวิต และเรื่องพุทธประวัติ การเชื่อมต่อระหว่างสังเวชนียสถาน ในที่ต่างๆ
ศาลาพักรถ ระหว่างการเดินทาง สาวัตถี-ลุมพินี ที่พระอาจารย์คมสรณ์ไปสร้างไว้
มีห้องน้ำสะอาด และ สิ่งอำนวยความสะดวก ไว้คอยต้อนรับผู้ไปสักการะ สังเวชนียสถาน

วันแรก เราเดินทาง 180 กม.จากเมืองลัคเนาว์ มาชม และสักการะ พระมูลคันธกุฏิ(กุฏิพระพุทธเจ้า) ณ วัดเชตวันมหาวิหาร ซึ่งเป็นวัดที่พระพุทธเจ้าจำพรรษาเป็นเวลานานที่สุด ถึง 19 พรรษา http://zogzagtravelling.blogspot.com/2017/05/blog-post.html (คลิ๊กอ่านได้ที่นี่)
วันที่สอง ของการเดินทาง เพื่อ "ตามรอยพระบาทแห่งองค์พระพุทธศาสดา น้อมสักการะ สังเวชนียสถาน" เริ่มขึ้นตั้งแต่เช้า หลังจากที่เราจัดการกับอาหารเช้า แบบไทยๆ ในโรงแรม ที่เราพัก...ณ เมืองสาวัตถี แล้วก็ทำการเช็คเอาท์ออกจากโรงแรมเลย
เช้าวันนี้ คณะเรามีท่านพระอาจารย์คมสรณ์ เจ้าอาวาสวัดไทยเชตวันมหาวิหาร แห่งเมืองสาวัตถี ร่วมเดินทางไปกลับคณะของเราด้วย ผมรู้สึกเพลิดเพลินจนไม่อยากจะหลับเมื่อบนรถมีท่านพระอาจารย์คอยอธิบายให้ความรู้ ในเรื่องราวต่างหลายๆเรื่อง ทั้งเรื่องชาวอินเดีย ความเป็นอยู่ วิถีชีวิต และเรื่องพุทธประวัติ การเชื่อมต่อระหว่างสังเวชนียสถาน ในที่ต่างๆ
ภายในรถโค้ชปรับอากาศ ที่เราใช้เดินทางตลอดทริป
วันนี้เราต้องเดินทางอีกกว่า 170 กิโลเมตร เพื่อไปยังด่านตรวจคนเข้าเมืองโสนารี (Sonauli) เข้าสู่ประเทศเนปาล เพื่อไปสักการะ สังเวชนียสถานอีกแห่งคือ ลุมพินี สถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า
การเดินทางวันนี้ทำให้ผมรู้ว่าทำไมคนอินเดียถึงชอบส่ายหัวไปมา เพราะถนนที่เราใช้เดินทาง มีทั้งความขรุขระ เป็นหลุมเป็นบ่อ ที่ราดยางไว้ก็เริ่มร่อนหลุด อีกทั้งแคบก็แคบจะสวนกันก็แต่ละทีลำบากมาก พวกเรานั่งหัวสั่นหัวคลอน ลุ้นกันตลอด ...แต่ก็เพลินดี กับวิถีของชาวอินเดียตามชนบท ริมสองข้างทาง
เส้นทางจากสาวัตถี สู่ Sonauli ที่ตั้งด่านตรวจคนเข้าเมืองประเทศเนปาล
มีอยู่ช่วงหนึ่ง ท่านพระอาจารย์คมสรณ์ บอกกลับพวกเราว่า ระหว่างการเดินทางถ้าโชคดีพวกเราอาจจะได้เห็นสัตว์ชนิดหนึ่ง เป็นสัตว์ที่ลงมาจากเทือกเขาหิมาลัย เป็นสัตว์โบราณในป่าหิมพานต์ ที่มีลักษณะเด่น คือ มีตัวเหมือนม้า มีหัวเหมือนกวาง มีเขาเหมือนแพะ ...ชื่อว่า นิลกาย
ผมนึกในใจมีด้วยเหรอ สัตว์ที่มีลักษณะอย่างนี้ จากที่ท่านอาจารย์คมสรณ์ บอกเล่าลักษณะให้ฟัง เหมือนกับว่า นิลกายเป็นสัตว์ลูกผสม ระหว่างสัตว์ต่างสายพันธุ์ หลายชนิดเข้าด้วยกัน มีทั้ง ม้า กวาง แพะ...ถ้าได้เห็นถือว่าพวกเราโชคดีมากๆ
ในขณะเดินทางผมก็ ถ่ายรูปไปเรื่อย พอผ่านป่าละเมาะแห่งหนึ่งสายตาเหลือบไปเห็นสัตว์ชนิดหนึ่ง จะเป็นม้าก็ไม่ใช่ จะกวางก็ไม่เชิง...ใช่แน่ "นิลกาย" ผมรีบตะโกนบอกด้านหน้าให้รถจอด เพื่อลงไปเก็บภาพ...โชคดีมาก ที่เราเจอ นิลกายสัตว์โบราณในป่าหิมพานต์
ในวิกิพีเดียบอกว่า นิลกาย...(Nilgai) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดหนึ่ง ในวงศ์วัวและควาย มีรูปร่างคล้ายวัวผสมกับม้า ตัวผู้มีลักษณะเด่นที่สีของลำตัวเมื่อโตขึ้นจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงินเข้มขึ้นเรื่อยๆ หรือสีเทาปนดำ อันเป็นที่มาของชื่อ
นิลกาย เป็นสัตว์ที่กระจายพันธุ์ในที่ราบตอนเหนือของอินเดียและทางภาคตะวันออกของปากีสถาน ชอบอยู่ตามที่ราบและเนินเขาที่มีไม้พุ่มเตี้ยๆ มากกว่าอยู่ในป่าทึบ
ปัจจุบันพบนิลกายมากที่สุดใน สวนลุมพินี อันเป็นสถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า และเชื่อว่าเป็นสัตว์ในป่าหิมพานต์ด้วย เป็นสัตว์ที่เชื่อว่าหากใครได้พบเห็น จะพบกับความเป็นสิริมงคล
การเดินทางด้วยรถยนต์ที่ประเทศอินเดีย ไม่มีปั๊ม ปตท. ให้เราแวะเข้าห้องน้ำเหมือนที่เมืองไทย ถ้ามีก็ไม่มั่นใจในเรื่องความสะอาด ไม่มีร้านมินิมาร์ท ให้เราเข้าไปซื้อของกินของขบเคี้ยวเราต้องพกใส่ถุงไปไว้กินเอง อย่างผมเป็นคนติดการแฟต้องนำกาแฟไปจากเมืองไทย แล้วชงใส่ไว้ในแก้วเก็บกักความร้อนติดตัวไปด้วยเลย
ท่านพระอาจารย์คมสรณ์บอกกับเราว่าตอนนี้เดินทางสะดวกขึ้นกว่าเมื่อก่อนเยอะอีกไม่นานถนนที่กำลังก่อสร้างเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว ก็จะแล้วเสร็จ เรื่องห้องน้ำระหว่างทาง ก็สะดวกมากขึ้น เพราะท่านพระอาจารย์ได้ไปขอซื้อที่ แล้วสร้างที่พักรถ มีห้องน้ำที่สะอาด มีที่นั่งพักเป็นศาลาขนาดใหญ่เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางไปแสวงบุญ หรือสักการะสังเวชนียสถาน มีสิ่งอำนวยความสะดวก มากมาย ทั้งน้ำดื่ม กาแฟ หรือแม้แต่ครัวขนาดใหญ่ ก็สามารถเข้าไปทำอาหารกินกันได้เลย
และที่พักระหว่างการเดินทางนี้ก็กำลังปรับภูมิทัศน์ นำต้นไม้มาปลูกเพิ่มความร่มรื่น...ต่อไปใครเดินทางเส้นทางนี้สบายหายห่วงได้ในเรื่อง ที่พักระหว่างทางและห้องน้ำ ห้องท่า
ท่านพระอาจารย์คมสรณ์ หรือ "ท่านคมสรณ์" แห่งโอเคเนชั่น
มีห้องน้ำสะอาด และ สิ่งอำนวยความสะดวก ไว้คอยต้อนรับผู้ไปสักการะ สังเวชนียสถาน
บนถนนสายประชาธิปไตย
การเดินทางไปบนเส้นทางที่ขรุขระ...จนหัวสั่นหัวคลอน กระเด้งกระดอนกันเป็นระยะๆ กับทำให้ผมเพลิดเพลิน ไปกับการนั่งลุ้นคนขับ ว่าจะไปชนคนปั่นจักรยานข้างหน้ามั้ย? จะไปชนวัวที่เดินอยู่นั่นหรือเปล่า? จะแซงพ้นมั้ยน้อ?...สารพัดจะลุ้น บนถนนสายประชาธิปไตยอันแท้จริงของอินเดีย
ที่บอกว่าเป็นถนนสายถนนประชาธิปไตยอันแท้จริงก็คือ...ทุกชีวิต สามารถใช้ถนนร่วมกันได้ ไม่จะเป็นสัตว์หรือว่ามนุษย์ ...รถเข็น รถลาก จักรยาน มอเตอร์ไซด์ รถบรรทุก คนเดิน วัวเดิน หมาเดิน ช้างเดิน หรือแม้แต่นิลกายเดิน...ก็ยังทำได้บนถนนของอินเดีย ใครอยากข้ามถนนตรงไหนข้าม ใครอยากขับสวนเลนเชิญ...เสียงแตรเป็นเรื่องธรรมดา ชนเฉียวกันนิดหน่อย หันมากระดิกหัว 2-3 ที ก็ขับไปต่อ...ไม่มีลงมาชกต่อยทะเลาะกัน...แต่แปลก ที่นี่ผมกับไม่ค่อยเห็นว่าจะเกิดอุบัติเหตุใหญ่ๆ ทั้งๆที่ การคมนาคมวุ่นวายมาก
ผมไปอินเดียทริปนี้ ได้แง่คิดจากท่านพระอาจารย์คมสรณ์หลายอย่าง มีแง่คิดจากเรื่องหนึ่งที่พระอาจารย์บรรยายบนรถซึ่ง เอ่อ! ฟังแล้วก็จริงแฮะ...
ท่านพระอาจารย์ บรรยายว่า...
"ประเทศอินเดีย เป็นประเทศที่มีประชากรพันกว่าล้านคน ซึ่งเป็นอันดับสองของโลกรองจากจีนและเป็นประเทศประชาธิปไตยที่มีประชากรมากที่สุด รัฐบางรัฐของอินเดียมีพื้นที่พอๆกับประเทศไทย มีภาษาพูดแปดร้อยภาษาโดยประมาณ มีภาษาหลักในการใช้พูดถึง 16 ภาษา และมีภาษาท้องถิ่นมากกว่า 100 ภาษา ที่อินเดียมีศาสนา นิกายที่นับถือแตกต่างกันไปอีกมากมายกว่า 400 ศาสนาทั่วอินเดีย
ด้านเศรษฐกิจอินเดียมีอำนาจในการซื้อเป็นอันดับที่สี่ของโลก
อินเดียมีขอทานมากที่สุด มีคนที่ยังแยกความแตกต่างของชนชั้นวรรณะ มีการจราจรที่วุ่นวายที่สุด...แต่แปลก คนอินเดียกับใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ไม่ทะเลาะเบาะแว้งกัน ไม่เคยว่ากัน ไม่ค่อยมีข่าวอาชญากรรมรายวัน มากมายเหมือนบางประเทศ แต่กับมีรอยยิ้ม รอยอิ่มเอม รอยแห่งความพอเพียงสมถะ...บางครั้งเมื่อเราไปเห็นการใช้ชีวิตของพวกเขา เราอาจจะคิดไปเองว่าเขาเป็นอย่างโน้นอย่างนี้...ทำไมไม่ทำอย่างโน้นอย่างนี้ตามความคิดของเราที่อยากให้เป็น (ย้ำว่าของเรา)...ทั้งๆที่พวกเขาก็ดูอยู่สุขสบาย ตามอัตภาพของพวกเขาเอง"
ในอินเดีย เราจะพบเห็นวัวได้ทั่วไปตามท้องถนน เป็นเรื่องธรรมดา
วัวกับคนอินเดีย
เมื่ออยู่ในประเทศอินเดีย ไม่ว่าจะเดินทางไปเมืองไหน เราจะเห็นวัวเดินไปมาตามท้องถนน หรือไม่ก็นอนบนถนน ได้อย่างอิสระเสรี โดยไม่มีใครไปไล่ หรือทำร้าย...เพราะคนส่วนใหญ่ของอินเดียนับถือศาสนาฮินดู ...ฮินดู ถือเป็นศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดในโลก คนฮินดูถือว่าวัวเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ มาหลายพันปี เหตุผลก็เพราะว่าประโยชน์นานัปการของวัว จนวัวเป็นสัญลักษณ์ของความมั่งคั่งมาแต่ดึกดำบรรพ์ มีสถานะคล้าย "ผู้ดูแล" ซึ่งเสมือนกับเป็นแม่
อินเดียมีวัวกว่า 280 ล้านตัว นอกจากเป็นสัญลักษณ์ของความมั่งคั่ง ความเข้มแข็ง ความอุดมสมบูรณ์ฯลฯ ในสังคมฮินดูแล้ว คนอินเดียยังเลี้ยงวัวเพื่อกินนม ให้มูลที่ใช้ทำได้สารพัดประโยชน์ และเลี้ยงลูกเพื่อขายอีกด้วย
ชาวอินเดียในชนบทใช้ประโยชน์จากมูลวัวหลากหลายมาก วัวต้องเป็นวันพันธุ์พื้นเมือง คล้ายๆวัวไทยตัวไม่โตมาก วัวมีความพิเศษคือมี 4 กระเพาะ...กระเพาะๆหนึ่งมีแบคทีเรียที่ช่วยย่อยสลายหญ้าได้ มูลวัวที่ได้วัวพันธุ์พื้นเมืองจะไม่เหม็นเหมือนวัวพันธุ์ผสม
วัวเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ของชาวอินเดีย วัวเป็นชาติสุดท้ายก่อนที่จะเกิดเป็นมนุษย์ ดังนั้นเราจะเห็นวัวเดินในทุกที่ ไม่เว้นแม้แต่บนถนน โดยเฉพาะในต่างจังหวัดที่คณะเรากำลังเดินทาง รถราต้องคอยหลบหลีกวัวเอาเอง
นั่งบนรถผมจะสังเกตุเห็น แผ่นกลมแบน ตากอยู่หน้าบ้านกรือบนหลังคา พระอาจารย์คมสรณ์บอกกับเราว่านั่นคือขี้วัวตากแห้ง...ใช้เป็นเชื้อเพลิงได้ดี และการเผามูลวัวยังช่วยไล่ยุงได้อีกด้วย การปลูกพื้นผัก ผลไม้ ส่วนใหญ่ชาวอินเดียไม่ใช้ปุ๋ยเคมี แต่จะใช้ประโยชน์จากมูลวัวมาทำปุ๋ย ...คนอินเดียจึงถือว่าวัวเป็น "Mother Of The Family"
บนถนนแห่งประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
มีการแห่ ในพิธีกรรมบางอย่างระหว่างทางที่รถผ่าน
ชาวอินเดีย เขามีความสุขตามอัตภาพ
ระหว่างทาง เห็นชาวอินเดียกำลังแห่ศพเพื่อไปเผาริมแม่น้ำ
อินเดียเป็นประเทศที่มีความอุดมสมบูรณ์มาก ทุกแห่งบนผืนดินจะมีแหล่งน้ำบาดาล
เส้นทางแยกระหว่างกบิลพัสดุ์และลุมพินี
ผลหมากรากไม้ ล้วนแต่ลูกโตๆ เพราะความอุดมสมบูรณ์ ของผืนดิน
วิถีชาวอินเดีย
วัดไทยราชรัตนาราม (960)...ศาลาพักข้างทางของผู้แสวงบุญ
ในอดีตทุกข์ของผู้แสวงบุญที่เดินทางไปสักการะสังเวชนียสถาน 4 ตำบล ที่อินเดีย-เนปาล โดยทั่วไปมักเกิดทุกข์จาก 3 ทุกข์ คือ ทุกข์เรื่องอาหารการกิน ทุกข์เรื่องการเดินทางที่แสนยากลำบาก และทุกข์เรื่องไม่มีห้องน้ำให้ปลดทุกข์ แต่ปัจจุบันนี้ทุกข์เรื่องอาหารการกินและการเดินทางเริ่มสะดวกสบายขึ้น เรื่องอาหารบริษัททัวร์คอยดูแล เรื่องการเดินทางมีรถปรับอากาศอย่างดูไว้คอยบริการพอให้ลืมระยะทางอันแสนยากลำบาก ทุกข์เรื่องห้องน้ำปลดไว้ปลดทุกข์นี่ก็หายห่วงได้ เพราะเริ่มมีการสร้าง ศูนย์ดูแลผู้แสวงบุญไว้เป็นระยะๆ ตลอดการเดินทาง
"พุทธวิหารสาลวโนทยาน 960" คือศาลาพักข้างทางของผู้แสวงบุญ มีห้องน้ำห้องสุขา มีจัดถวายภัตตาหารถวายพระสงฆ์ ระหว่างการเดินทางและเป็นศาลาแบบอเนกประสงค์ไว้รับประทานอาหารแบบปิคนิค มีคลีปฐมพยาบาลและตู้ยาสามัญ นอกจากจะมีห้องสุขาที่สะอาดที่สุดแล้ว ยังมีมุมนั่งจิบชากาแฟ ชิมโรตี "อรีดอย" ทอดร้อนๆ จากฝีมือแม่ชี โรยนมข้นหวานอร่อยจริงๆ หากินไม่ได้แล้วจากที่อื่น ในที่พักข้างทางยังมีร้านขายของที่ระลึก ให้ติดไม้ติดมือกับไปด้วย ปัจจุบันเป็นที่รู้จักกันในนามวัด "960" หรือ "วัดไทยราชรัตนราม"
ตัวเลข 960 มาจาก 9 = รัชการที่ 9 และเลข 60 = สร้างขึ้นในปีมหามงคลเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ใน พ.ศ.2549)
วัด 960 ที่พักริมทางก่อนเดินทางเข้าสู่ประเทศเนปาล
โรตีอรีดอย ฝีมือแม่ชีที่วัด 960 อรีดอย...อร่อยดี
ก่อนเข้าสู่ประเทศเนปาลทางด่านตรวจคนเข้าเมืองโสนารี เราจะมองเห็นรถบรรทุกจอดกันยาวเหยียดกว่า 5 กิโลเมตรเห็นจะได้เห็นว่าบางคันจอดรอคิวเข้าสู่ประเทศเนปาลนานเป็นอาทิตย์กันเลยทีเดียว ด่านโสนารี เป็นด่านที่ผู้คนแออัดยัดเหยียดมากๆ การค้าคึกคัก
รถบรรทุกติดยาวเหยียดเพื่อรอคิวเข้าสู่ด่านประเทศเนปาล
กำลังขยายถนนจากฝั่งอินเดีย ไปสู่โสนารี
หน้าด่าน โสนารี ประตูสู่ประเทศเนปาล
วิถีผู้คน บริเวณด่าน โสนารี
จากด่านตรวจคนเข้าเมืองโสนารี เราเดินทางต่อไปอีก 20 กว่ากิโลเมตร เข้าสู่ที่พักซึ่งเป็นโรงแรมของคนญี่ปุ่น ก่อนเดินต่อด้วยรถกระป้อขนาดเล็กไปยังสถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า
เราเดินเท้าเข้ายังลุมพินีสถานผ่านกระถาง "ไฟแห่งสันติภาพ" (อันลุกโชติช่วงตลอด 24 ชม.)
ไฟสันติภาพ ณ สวนลุมพินีเป็นสัญลักษณ์ให้เรารู้ว่าได้มาถึงสวนลุมพินีวันแล้ว ไฟสันติภาพนี้ไม่เคยดับและไม่มีวันดับ เป็นดวงไฟที่หล่อหลอมดวงใจของคนทั้งโลกให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
นั่งรถกระป้อ ไปยังสวนลุมพินีวัน สถานที่ประสูตรของพระพุทธเจ้า
ไฟแห่งสันติภาพ
สถานที่ประสูติ...ลุมพินีวัน
ลุมพินี ถือเป็นพุทธสังเวชนียสถานที่สำคัญแห่งที่ 1 ใน 4 สังเวชนียสถานของชาวพุทธ เป็นสถานที่ประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ โคตรมะ ซึ่งเป็นเจ้าชาย ในราชวงศ์ศากยะ ผู้ซึ่งต่อมาตรัสรู้เป็นพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ตั้งอยู่ในอำเภอไภรวา แคว้นอูธ ประเทศเนปาล เป็นสังเวชนียสถาน 4 ตำบลเพียงแห่งเดียวที่อยู่นอกประเทศอินเดีย
ลุมพินีวัน เดิมเป็นสวนป่าสาธารณะ หรือวโทยานที่ร่มรื่นเหมาะแก่การพักผ่อน ในสมัยพุทธกาลลุมพินีวันตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างเมืองกบิลพัสดุ์กับเมืองเทวทหะ ในแคว้นสักกะบนฝั่งแม่น้ำโรหิณี หลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว พระเจ้าอโศกมหาราชได้โปรดให้สร้างเสาหินขนาดใหญ่ มาปักไว้ตรงบริเวณที่ประสูติ เรียกว่า เสาอโศก
พระพุทธเจ้าน้อย

"วิหารมายาเทวี" ถือเป็นจุดสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของลุมพินี ภายในประดิษฐานภาพหินแกะสลัก พระรูปพระนางสิริมหามายาประสูติพระราชโอรส โดยเป็นวิหารเก่ามีอายุร่วมสมัยเดียวกันกับเสาหินพระเจ้าอโศก ปัจจุบันทางการเนปาลได้สร้างวิหารใหม่ทับวิหารมายาเทวีหลังเก่าและได้ขุดค้นพบโบราณวัตถุที่สำคัญ คือแผ่นศิลาขนาด 5 คูณ 5 นิ้ว ซึ่งนักสำรวจเชื่อว่าเป็นหลักฐานสำคัญชิ้นหนึ่ง สมัยพระเจ้าอโศกมหาราชทรงสร้างไว้เพื่อเป็นการยืนยันว่าเมื่อเจ้าชายน้อยทรงประสูติ ทรงมีพระดำเนินได้ 7 ก้าว ปัจจุบันภายในวิหารมีแผ่นหินที่เชื่อว่าเป็นรอยพระบาท สันนิษฐานว่าเป็นจารึกรอยพระบาทก้าวแรกของเจ้าชายสิทธัตถะที่ทรงดำเนินได้เจ็ดก้าวในวันประสูติ ประดิษฐานไว้ให้ชาวพุทธทั่วโลกได้เข้าไปสักการะ (ด้านในวิหารมายาเทวี ห้ามถ่ายภาพทุกชนิด)
วิหารมายาเทวี ด้านในขุดค้นพบศิลาจารึกรูปคล้ายรอยเท้า
เสาอโศก ที่พระเจ้าอโศกมหาราชได้จารึกไว้ว่าพระพุทธเจ้าประสูติที่ตรงนี้
บรรยากาศในลุมพินีวัน สถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า
ลุมพินีวัน ได้รับการพัฒนาจากชาวพุทธทั่วโลก โดยเฉพาะโครงการฟื้นฟูพุทธสถานลุมพินีวันให้เป็น "พุทธอุทยานประวัติศาสตร์ของโลก" ซึ่งเป็นดำริของ ฯพณฯ อู ถั่น ชาวพุทธพม่า ในสมัยท่านดำรงตำแหน่งเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ท่านตั้งใจเริ่มโครงฟื้นฟูให้ลุมพินีเป็นศูนย์รวมจิตใจชาวพุทธบนพื้นที่สี่เหลี่ยมผืนผ้ากว่า 6,000 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่สัดส่วนสำหรับปลูกป่าและสร้างวัดพุทธนานาชาติจากทั่งโลกกว่า 41 ประเทศ โดยโบราณสถานลุมพินีวันตั้งอยู่ทางเทิศใต้ ปัจจุบันมีวัดไทยและวัดพุทธทั่วโลกไปสร้างอยู่เป็นจำนวนมากและมีขนาดใหญ่โต เพื่อรองรับพุทธศาสนิกชนที่เดินทางมาสักการะและแสวงบุญ
ในปี พ.ศ.2540ลุมพินีวันได้รับการขึ้นทะเบียน ให้เป็นมรดกโลก "ลุมพินี สถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า"
หลังจากที่เรา เข้าไปสักการะสังเวชนียสถาน ลุมพินีวัน ก่อนกลับเข้าสู่โรงแรมพระอาจารย์คมสรณ์ พาเรานั่งรถกระป้อ ไปชมวัดไทยลุมพินี ที่ตั้งอยู่ห่างจากสถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้าเพียง 1.5 กม.
"วัดไทยลุมพินี" เป็นวัดไทยแห่งแรกในประเทศเนปาล ที่ตั้งอยู่ในปริมณฑล สังเวชนียสถานเขตลุมพินีวัน
รัฐบาลไทยมีมติให้สร้าง วัดไทยลุมพินี ขึ้น เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2535 ในสวนลุมพินี ประเทศเนปาล เพื่อเฉลิมฉลอง ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองศิริราชสมบัติครบ 50 ปี ทุนการก่อสร้างวัดมาจากงบประมาณแผ่นดินเป็นหลัก และมีพุทธบริษัทที่มีจิตศรัทธาร่วมกันบริจาคสมทบ โดยมีสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จมาประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ.2538
วัดไทยลุมพินี ตั้งอยู่ฝั่งวัดฝ่ายเถรวาท ซึ่งมีวัดนานาชาติที่เป็นฝ่ายเดียวกันอยู่ฝั่งนี้อีกหลายวัด ถ้าข้ามคลองไปอีกฝั่ง ก็จะเป็นวัดนานาชาติ ของฝ่ายมหายานหรือหินยาน
ภายในวัด มีโบสถ์จตุรมุข สีขาวโดดเด่น งดงามตามแบบสถาปัตยกรรมไทย
ออกแบบโดยศิลปินแห่งชาติ
วัดไทยลุมพินี ถือว่าเป็นวัดที่มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น คือมีพระอุโบสถสีขาวและลวดลายประดับแบบไทยๆที่มีความงดงาม ในพระอุโบสถมีพระประธานที่มีชื่อว่า พระพุทธสุวรรณภูมิศิริโชค บริษัทการบินไทยจำกัดเป็นเจ้าภาพจัดสร้างถวาย ปางสมาธิ ทำด้วยหินหยก
พระพุทธสุวรรณภูมิศิริโชค บริษัทการบินไทยจำกัดเป็นเจ้าภาพจัดสร้างถวาย
หากใครมีโอกาสเดินทางไปแสวงบุญน้อมสักการะสังเวชนียสถาน ณ ลุมพินีวัน ประเทศเนปาลหากยังตัดสินใจไม่ได้ว่าจะพักที่ไหนดี วัดไทยลุมพินี ก็มีที่พักอาหารไทยๆ ไว้คอยบริการด้วยเช่นกัน บางครั้งการได้พักวัดไทยในต่างแดนก็ทำให้เราอบอุ่นใจเหมือนอยู่บ้านได้เช่นกัน
เราจบทริปวันที่สอง...ของการเดินทาง "ตามรอยพระพุทธศาสดา น้อมสักการะสังเวชนียสถาน" ที่วัดไทยลุมพินี กับบรรยากาศสบายๆ ยามเย็น ก่อนเข้าสู่โรงแรมที่พัก
วันที่สามแห่งการเดินทางแสวงบุญ จะเริ่มขึ้นในพรุ่งนี้เช้า เราต้องเก็บแรงเพื่อเดินทางไกลอีกวัน เพื่อไปสักการะ สังเวชนียสถาน ที่เมืองกุสินารา ในฝั่งประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นสถานที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น