ช่วงนี้ใกล้จะปีใหม่แล้ว ลมหนาวคงจะเริ่มพัดวอยๆ เข้าสู่ เมืองอุดรฯ แล้วสินะ... เห็นว่าช่วงเช้าอุณหภูมิ ลดฮวบฮาบลงถึง 14 องศาแล้ว คนทางโน้น (อุดรฯ) คงจะเย็นคีงจ้อยๆ แน่เลย... ดอกบัวสีชมพูสด ที่ทะเลบัวแดง คงเริ่มบานสะพรั้ง เกือบเต็มบึงแล้วกระมัง...ตอนผมไปงานบุญกฐินที่บ้านเชียง เมื่อปลายเดือนตุลา ต้นพฤจิกา ที่ผ่านมา มีโอกาสแอบไปดูทะเลบัวแดงก่อนใครเพื่อน ขนาดบัวยังไม่บานเต็มที่ยังงามขนาด... งามกะด้อกะเดี้ย...งามอีหลี อีหลอ...งามขนาดไหน เดี๋ยวค่อยๆเลื่อนดู เลื่อนอ่าน ไปเรื่อยๆ ก็แล้วกัน...พอพูดถึงอุดรฯ ชักอยากกินข้าวเปียกต่อน ที่ร้าน "ข้าวเปียก"ใกล้ๆ กับโรงเรียนหมากแข้ง แมะ!
ป่ะ!...ผมจะพาเพื่อนๆ ไปเที่ยว ไปกิน ไปนอน ที่อุดรฯ พร้อมๆกัน แต่ผมขอย้อนเวลาทริปนี้กลับไปสัก เดือนนึงก็แล้วกัน ช่วงนั้นเที่ยวแบบสบายๆ นักท่องเที่ยวไม่ค่อยเยอะเท่าไหร่
ทริปนี้ผมไม่ได้เดินทางไปคนเดียวแต่ไปกับเพื่อนบล๊อกเกอร์รุ่นเก๋าจากโอเคเนชั่นอีก 2 คน คือบล๊อกเกอร์ลุงตุ่ย และ บล๊อกเกอร์ไอ้เสือน้อย ในการเดินทางท่องเที่ยวอุดรธานีครั้งนี้เราได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท อิทราแม่โขง จำกัด (INTRA Mekong Co.Ltd)
เราเดินทางออกจากดอนเมืองมาถึงสนามบินอุดรธานี ประมาณ 2 โมงเช้าเห็นจะได้ พอดีได้เวลาอาหารเช้าเป๊ะ...พี่ตุ่ยและพี่น้ำแข็ง ผู้บริหาร บริษัท อินทราแม่โขง คนพื้นที่อุดรธานี ...ที่มารอรับพวกเราที่สนามบิน พี่เขาเหมือนจะรู้ใจ พาเราขึ้นรถตู้ตรงดิ่งไปยังร้าน"ข้าวเปียก"... ร้านอาหารเช้ายอดนิยมของชาวอุดรฯ ที่อยู่ใกล้ๆ กับโรงเรียนหมากแข้งทันที พอถึงร้าน เมนูแรกที่ผมสั่งคือ ข้าวเปียก กับ ข้าวเเกรียบปากหม้อ ซึ่งเป็นอาหารเวียดนามที่ผมชอบกินมาตั้งแต่เด็ก ร้านข้าวเปียกยังมีเมนูอาหารเช้าอีกมากมายให้ลิ้มลอง ไม่ว่าจะเป็น ไข่กระทะ,ขนมปัง,ข้าวจี่ปาเด,หมูยอทอด,ข้าวซี่โครงหมูตุ๋น,ขาไก่ซุปเปอร์,ไก่ทอดเกลือ,สตูว์เนื้อ,โจ๊ก,มาม่า และอีกสารพัด...ใครไปเที่ยวอุดรฯ ร้าน "ข้าวเปียก"เป็นอีกหนึ่งร้านที่เช้าๆ ไม่ควรพลาด ต้องไปลิ้มลองให้ได้
ร้านข้าวเปียก และ หน้าตาข้าวเปียกเส้นที่สั่ง
(ขอขอบคุณภาพข้าวเปียกจาก ลุงตุ่ย มากครับ)
ชมวิถีชาวไทพวน...บ้านเชียง
ผมไปท่องอุดรฯ ทริปนี้เป็นช่วงที่มีการทำบุญทอดกฐินพอดี ก่อนออกท่องเที่ยวอุดรธานี ผมมีโอกาสได้ไปร่วมงานทอดกฐินที่บ้านเชียงด้วย
แหม๋! ได้ไปเยือนถิ่นไทพวน บ้านเชียง ทั้งที... บล๊อกเกอร์ท่องเที่ยวสายวิถี วัฒนธรรม ประเพณีแบบผมจะพลาดได้ไงเดินถ่ายภาพสนุก ไปเลยสิครับ
บ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี ถือได้ว่าเป็นหมู่บ้านแห่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่บอกเล่าถึงอารยธรรมของผู้คนในดินแดนประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากว่า 5,600 ปีมาแล้ว
ชาวบ้านเชียงในปัจจุบันเป็นกลุ่มคนที่อพยพมาจากเมืองพวนของราชอาณาจักรลาวเมื่อ 200 ปี ทุกคนล้วนมีความมุ่งมั่นที่จะสืบสานและนำเสนออารยะของคนบ้านเชียงในยุคก่อนประวัติศาสตร์และเอกลักษณ์ของชาวไทยพวนรวมทั้งวัฒนธรรมในพื้นที่อิสาน ผ่านวิถีชีวิตและงานศิลปะ ทุกเส้นสายที่แต่งแต้มสีบนดินปั้น สื่อถึงอารยธรรมอันรุ่งเรืองในอดีตสืบเนื่องมาเป็นเวลากว่าหลายพันปี
แห่กฐินเข้าวัดของชาวไทพวนบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี
ผมจำได้ตอนผมเรียนหนังสือชั้นประถมหรือแม้กระทั่งเข้ามัธยม เมื่อครูศิลปะ สั่งให้วาดลายไทย ผมมักจะวาดลวดลาย ก้นหอย ลายตะขอ ลายเรขาคณิต ลายเชือกทาบฯลฯ ซึ่งเป็นลายที่อยู่ในภาชนะเครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียง ที่บ่งบอกถึงยุคสมัยของอารยธรรมบ้านเชียง
เรื่องราวต่างๆ ของชาวบ้านเชียง แทรกอยู่ในเม็ดดินอันอุดมสมบูรณ์ที่ผ่านช่วงเวลาหลายยุคหลายสมัยเรื่อยมาจนมีชาวพวนจากแขวงเชียงขวาง แห่งราชอาณาจักรลาว อพยพข้ามแม่น้ำโขงมา ตัดสินใจลงหลักปักฐานกันตรงนี้เมื่อราวปี พ.ศ. 2360 ซึ่งในตอนนั้นเรียกว่า "ดงแพง" ทับซ้อนบนผืนดินเดียวกับที่เจ้าของวัฒนธรรมบ้านเชียงเคยอยู่เมื่อหลายพันปีก่อน
เด็กๆยืนรอชม ขบวนแห่กฐิน
ในงานบุญกฐินมีข้าวจี่แจกฟรีด้วยครับ
บรรยากาศงานทอดกฐินชาวไทพวน บ้านเชียง
เสร็จจากบุญกฐินพวกเรามีโอกาสเดินชมร้านรวงเรียงรายอยู่บริเวณหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง ที่นี่มีขายสินค้าหลากหลายชวนซื้อไปตกแต่งประดับบ้าน ไม่ว่าจะเป็นของฝากของที่ระลึก ของประดับ ตกแต่งเครื่องปั้นดินเผาที่มีการเขียนลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ผ้าไหม ผ้าฝ้าย ผัามัดหมี่แต่ละผืน แต่ละตัวล้วนสวยงาม
ย่านที่คึกคักของหมู่บ้านเห็นจะเป็นถนนหน้าพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ นี่แหละครับ ที่นี่มีร้านขายของที่ระลึก กับร้านอาหารเรียงรายติดๆ กันตลอดแนวรั้วพิพิธภัณฑ์ ซึ่งเรา มักจะเห็นคนเดินเข้าออกร้านนั้นร้านนี้กันขวักไขว่ ก็ภาชนะลายเขียนสีที่มีทั้งขนาดเล็กจิ๋วและแบบขยายส่วนใบเขื่องราคาย่อมเยาที่วางโชว์หน้าร้านเหล่านั้น ทำเอาคนซื้อที่พึ่งซึมซับเรื่องราวความเป็นมาต่างๆ จากพิพิธภัณฑ์อดไม่ได้ที่จะยอมจ่ายแต่โดยดี
เครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียง บรเวณหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง
ผ้าฝ้าย ผ้าไหม ลายบ้านเชียงที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ และของฝากบ้านเชียง
พิธีบายศรีสู่ขวัญ
เมื่อหลายปีก่อน ใครไปเที่ยวจังหวัดอุดรธานี สถานที่ท่องเที่ยวที่ทุกคนไม่เคยพลาดมักมีชื่อบ้านเชียงอยู่ในอันดับต้นๆอยู่ในโปรแกรมท่องเที่ยว
ชุมชนเล็กๆ ของบ้านเชียงไม่เคยขาดคนมาเที่ยวทั้งฝรั่งและไทย เพียงแต่จะมากหรือน้อยเท่านั้นเอง พวกเขามาจากที่ไกลๆ มาดูร่องรอยถึงการมีอยู่ของคนเมื่อ 5,000 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์ทั่วโลกต้องตระหนักและรักษา เมื่อแหล่งโบราณคดีบ้านเชียงได้รับการขึ้นทะเบียนไว้ในบัญชีรายชื่อแหล่งมรดกโลกแห่งอนุสัญญาคุ้มครองโลกเมื่อปี พ.ศ.2535
วันนี้ ทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ คงจะลืมไปว่าที่อุดรธานี มีหมู่บ้านที่เป็นมรดกโลก ที่น่าศึกษา น่าค้นหารากเหง้าเมื่อครั้งอดีต และที่สำคัญบ้านเชียงในวันนี้มีความพร้อมที่จะต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทั่วสารทิศ ที่จะเดินทางไปนอนพักผ่อนชิลล์ ดื่มด่ำกับบรรยากาศ และวิถีที่ไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก
ผ้าฝ้าย ผ้าไหม ลายบ้านเชียงที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ และของฝากบ้านเชียง
เมื่อเดินออกมาจากพิพิธภัณฑ์เลี้ยวซ้ายข้างๆป้อมตำรวจ บริเวณนี้จะมีตลาดบ้านเชียง ที่มีร้านขายของที่ระลึก ร้านนวดแผนโบราณ(หลังจากเดินชมเหนื่อยๆ) ร้านขายผ้าเนื้อดีลวดลายสวยงามของบ้านเชียง มีกิจกรรมปั้นหม้อดินเผาและเขียนสีบ้านเชียง ให้นักท่องเที่ยวลองทำ ร้านขายเครื่องจักสานก็ตั้งอยู่ที่ตลาดแห่งนี้...และยังมีพิพิธภัณฑ์ขนาดย่อมที่จัดแสดงเรื่องราวของชาวไทพวน บ้านเชียงอีกด้วย
พิพิธภัณฑ์ไทพวนบ้านเชียง
วิถีหัตถศิลป์และภูมิปัญญาของชาวบ้านเชียง
วิถีหัตถศิลป์และภูมิปัญญาของชาวบ้านเชียง
ที่บ้านเชียงยังมี กลุ่มปั้นหม้อเขียนสี เป็นที่ผลิตภาชนะดินเผาและเขียนสีตามแบบอย่างภาชนะดินเผาของบ้านเชียงโบราณ มีแบบและลวยลายต่างๆ มากกว่า 100 ลายเช่นลายก้นหอย ลายตะขอ ลายเรขาคณิต ลายเชือกทาบฯลฯ โดยแต่ละรูปทรงและลวดลายจะบ่องบอกถึงยุคสมัยของอารยะธรรมบ้านเชียง กลุ่มปั้นหม้อเขียนสี นอกจากนอกจากผลิตภาชนะดินเผาเขียนสีแล้ว ยังมีกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวได้ทดลองเขียนสีลงบนภาชนะดินเผาขนาดจิ๋วเลียนแบบลายบ้านเชียงอีกด้วย
เรือนไทพวน
น้องก้อย มัคกุเทศน์สาวผู้น่ารักแห่งบ้านเชียงพาเราเดินลัดเลาะเพื่อไปชม บ้านไทพวน เรือนที่เป็นเรือนไม้หลังคาทรงป้านใต้ถุนสูง ส่วนที่เป็นห้องนอนประกอบด้วยฝา 4 ด้าน มีหน้าต่างประตูหน้าห้องนอนเป็นระบียงโล่งระดับเดียวกัน มีหลังคาคลุมเรียกว่า "เซีย" ใช้เป็นทั้งที่ร่วมวงทานข้าว ที่ต้อนรับผู้มาเยือน หรือนั่งพักผ่อน และทำงาน
จากเซียจะเป็นพื้นไม้ลดระดับลงไปเรียกว่า "ชาน" แล่นต่อจากเรือนไปยังโรงครัวที่อยู่ด้านข้าง ด้านหน้าชานเป็นบันไดทางขึ้นลง ใต้ถุนบ้านยกสูงเพื่อไว้ให้สาวไทพวนนั่งทอผ้าหลังเลิกจากการทำนาไร่
เรือนไทพวน
ขอบคุณนางแบบ น้องก้อย มัคกุเทศน์แห่งบ้านเชียง
หลุดขุดค้นวัดโพธิ์ศรีใน
เป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งแห่งแรกของประเทศไทย แสดงการขุดค้นชั้นดินในระดับต่างๆ ซึ่งค้นพบโครงกระดูกมนุษย์ ภาชนะดินเผา เครื่องมือประเภทขวาน หอก เหล็ก ฝั่งอยู่รวมกัน แสดงถึงความเชื่อและวิธีการฝังศพของคนยุคก่อนประวัติศาสตร์เมื่อ 2,300 - 1,800 ปีมาแล้ว และยังพบร่องรอยแกลบข้าวยังติดอยู่ในสนิมของเหล็ก ซึ่งพิสูจน์ได้ว่ามีการปลูกข้าวในสมัยนั้น หลุดขุดค้นวัดโพธิ์ศรีในเปิดให้เข้าชมเวลา 08.30-16.00 ทุกวัน ยกเว้นวันจันทร์ อังคาร
หลุมขุดวัดโพธิ์ศรีใน
กลุ่มอาชีพทอผ้า ย้อมคราม
ผ้าทอไทพวนถือเป็นความภาคภูมิใจ ของชาวบ้านเชียง เป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ในการออกแบบลวดลายเลียนแบบธรรมชาติ
กลุ่มทอผ้าบ้านเชียงเริ่มจากที่มีการทอผ้าใส่กันเองในหมู่บ้าน จนได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะเป็นผ้าทอที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวบ้านเชียงเอง จนกลายเป็นสินค้าโอท็อปของหมู่บ้าน และมีชื่อเสียงอย่างแพร่หลายมากขึ้น
กรรมวิธีย้อมคราม
ผลิตภัณฑ์ที่กลุ่มทออยู่ปัจจุบัน ได้แก่ ผ้าพันคอ,ผ้าตัดเสื้อ,ผ้ามัดหมี่ 2 ตะกอ และ 4 ตะกอ,ผ้าขาวม้า,ผ้าคลุมไหล และผ้าสีพื้นเรียบสำหรับตัดชุดไทพวน และยังรับทำผ้าตามสั่งทั่วไป
กลุ่มจักสาน...บ้านดงเย็น
ไปท่องเที่ยวเชิงวิถี วัฒนธรรม ที่บ้านเชิง ผมว่าได้เห็นครบนะ มีทั้งการเขียนสีลวดลายเครื่องปั่นดินเผา การย้อมครามทอผ้า และยังมีการจักสานอีกด้วย
วิสาหกิจชุมชนกลุ่มจักสานไม้ไผ่บ้านบ้านดงเย็น มีการจักสานที่หลากหลาย อาทิ กระติบข้าวเหนียว กระจาด ตะกร้าใส่หมาก และ กระเป๋าถือ ฯลฯ มีความโดดที่ความละเอียดปราณีตในแบบช่างพื้นบ้าน แตกต่างจากงานจักสานทั่วไปตรงที่นำเครื่องจักสานไปรมควันจากฟางข้าว จนเนื้อไผ่เป็นสีน้ำตาลสวยงามและมีกลิ่นหอมอ่อนๆ นักท่องเที่ยวที่ไปพักบ้านเชียงสามารถไปเรียนรู้การจักสานได้ที่กลุ่มจักสานบ้านดงเย็น
วิสาหกิจชุมชนกลุ่มจักสานไม้ไผ่บ้านดงเย็น
โฮมสเตย์ บ้านเชียง
ไปเที่ยวอุดรธานี ไม่รู้จะไปพักที่ไหนที่บรรยากาศดีๆ มีการต้อนรับอบอุ่น ผมแนะนำไปพักโฮมสเตย์บ้านเชียงเลยครับ มีให้เลือกหลายหลังหลากหลายสไตล์ หลากหลายรูปแบบ ต้อนรับนักท่องเที่ยวได้เป็นร้อย ทั้งในแบบครอบครัว หรือหมู่คณะ กลุ่มโฮมสเตย์บ้านเชียงยังมีกิจกรรม ดีๆ สำหรับนักท่องเที่ยวที่ไปพักอีกด้วย
นักท่องเที่ยวที่ไปพักโฮมสเตย์บ้านเชียง จะได้สัมผัสและชมวิถีชีวิตของชาวบ้านเชียงในอดีต เช่นการแต่งกายแบบไทพวน การประกอบอาชีพในอดีต เช่นการเขียนสีเครื่องปั้นดินเผา การทอลายผ้า การทำเครื่องทองเหลือง ทำเครื่องปั้นดินเผา การทอผ้ามัดหมี่ย้อมคราม ฯลฯ
ตกเย็นมีการต้อนรับนักท่องเที่ยวโดยการทำพิธีบายศรีสู่ขวัญ แบบไทพวน โบราณ ชมการแสดงดนตรีอีสาน การฟ้อนรำของชาวอีสาน และยังสามารถเลือกซื้อไวน์จากแหล่งผลิตไวน์รสชาติเยี่ยมอีกด้วย
โฮมสเตย์ หลังนี้ เป็นบ้านน้อง อาร์ เดอะสตาร์ ครับ
โฮมสเตย์น่ารักๆ บ้านน้องก้อยมัคกุเทศน์ของเรา
โฮมสเตย์ บ้านเชียงไวน์เนอรี่ เราสามารถเยี่ยมชมดูขั้นตอนการผลิต ชิมไวน์ และจำหน่ายไวน์ผลไม้ตามฤดูกาล เป็นไวน์คุณภาพดี ในราคาคนไทยภายใต้แบรนด์ "บ้านเชียง"
บไวน์บ้านเชียงใช้วัตถุดิบจากผลไม้ตามฤดูกาลที่มีตลอดปีในท้องถิ่น อาทิ กระชายดำ กระเจี๊ยบ มะยม มะม่วง หม่อน ลูกหว้า มังคุด หมากเม่า มะเฟือง องุ่น ฯลฯ
ชิมไวน์ที่โฮมสเตย์บ้านเชียง ไวน์เนอรี่
มาพักบ้านเชียงยังได้กินอาหารรสแซ่บสไตล์อิสาน อาหารหลักก็คือข้าวเหนียวนึ่ง กินกับส้มตำมะละกอ ซุปหน่อไม้ หมกปลา จิ้มกับผักพื้นบ้านนานาชนิด เป็นเมนูบ้านๆ ที่เข้ากับบรรยากาศของการพักผ่อนที่โฮมสเตย์บ้านเชียง
อยากเปลี่ยนแนวการท่องเที่ยวในแบบเดิมๆ ลองเลือกไปพักบ้านเชียงดูครับ ไปชิมอาหารอิสานสุดอร่อย แซ่บเวอร์ หรืออยากจะชิมอาหารฝรั่งประเภทสเต็ก บาร์บีคิว ในแนวบ้านทุ่ง ที่โฮมสเตย์บ้านเชียงไวน์เนอรี่ ก็จัดให้ได้ เพราะเจ้าของบ้านเคยสั่งสมประสบการณ์จากการเป็นหัวหน้าพ่อครัวในต่างประเทศมากว่า 20 ปี
โฮมสเตย์เรืองพิมาน ที่พวกเราพักครับ
เที่ยววัดสันติวนาราม...อุโบสถกลางน้ำหนึ่งเดียวในสยาม
ห่างออกไปจากบ้านเชียงประมาณ 3 กิโลเมตร เรามีโอกาสไปชมพระอุโบสถทรงดอกบัวกลางน้ำ ที่วัดสันติวนาราม เป้นพระอุโบสถรูปทรงดอกบัวที่มีเพียงแห่งเดียวในเมืองไทย
วัดสันติวนาราม หรือวัดป่าดงไร่ ตั้งอยู่บนพื้นที่ 1,350 ไร่ พุทธอุทยานบ้านเชียงแห่งนี้สะอาด ร่มรื่น มีป่าธรรมชาติที่สมบูรณ์จำนวนกว่า 1,100 ไร่ และมีหนองน้ำ ที่ชาวบ้านเรียกกันว่า หนองน้ำอิสานเขียว มีเนื้อที่ 100 ไร่ ส่วนที่เหลือเป็นลานอเนกประสงค์ และที่สำคัญบริเวณหนองน้ำมีพระอุโบสถกลางน้ำรูปทรงดอกบัว ที่มีแห่งเดียวในสยาม ซึ่งนำรูปแบบพระอุโบสถมาจากประเทศอินดีย
พระอุโบสถแห่งนี้ มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 19 เมตร สูง 19 เมตร มีกลีบดอกบัว 24 กลีบ ในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาพระอุโบสถก็ใช้ประกอบพิธีกรรม เช่นกัน ไม่ว่าเป็นการทำวัตรเช้า เย็น เวียนเทียนฯลฯ
วัดสันติวนาราม...อุโบสถกลางน้ำหนึ่งเดียวในสยาม
บรรยากาศบ้านเชียงยามเย็น
พิธีบายศรีสู่ขวัญ
เที่ยวอุดรฯ...พักบ้านเชียง
คืนนั้นพวกเรานอนหลับสบายที่โฮมสเตย์เรืองพิมาน บ้านเชียง อิ่มเอมกับการต้อนรับอันแสนอบอุ่น จากพิธีบายศรีสู่ขวัญแขกผู้มาเยือนของชาวไทพวนบ้านเชียง ซึ่งเป็นการทำพิธีสู่ขวัญที่หาชมได้ยากจากสังคมเมือง
เราพักบ้านเชียงก็จริง แต่สถานที่ท่องเที่ยวของจังหวัดอุดรฯ ดูเหมือนจะอยู่ไม่ไกลจากบ้านเชียงมากนัก ไม่ว่าจะเป็นทะเลบัวแดง คำชะโนด หรือสถานที่เที่ยว กิน ที่อยู่ในตัวเมืองอุดรฯ เอง...พักบ้านเชียงเดินทางไปท่องเที่ยวสะดวก สบายมากเหมือนเป็นจุดศูนย์กลางเลยก็ว่าได้ แถมที่นี่อากาศก็ดี๊...ดี
เดี๋ยวๆ...ผมไม่ได้เที่ยวอยู่แค่บ้านเชียง ยังไปเที่ยวทะเลบัวแดง คำชะโนด วัดสวยๆ อีกหลายวัด ไปกินอาหารอร่อยๆ จากร้านในตัวเมืองอีกหลายร้าน...คอยติดตามตอนต่อไปครับ
ตอนต่อไปจะพาไปเที่ยวทะเลบัวแดง ครับ
เที่ยวซอกแซกไปกับชายสามหยด
https://www.facebook.com/ZogZagTravelling/