วันพุธที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ขี่เสือตลุย...ปั่นเที่ยวเกาะหมาก...ในสไตล์โลว์คาร์บอน(ตอนที่ 2)


มาช่วยกันลดภาวะโลกร้อน...ปั่นท่องเกาะหมากกับ ทีม Cycling Island กันเถอะ!!

การลดภาวะโลกร้อน ผมว่าเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องช่วยกันทำ เราทุกคนต่างก็มีส่วนที่ทำให้เกิดปัญหานี้ขึ้น เพราะเพียงแต่เราหายใจอยู่เฉยๆ ก็ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาแล้ว ยังไม่รวมถึงกิจกรรมต่างๆอีกมากมาย ที่เราทำอยู่ทุกๆวัน 

ถึงเวลาหรือยังที่เราต้องเลิกคิดว่าภาวะโลกร้อนไม่ใช่ธุระของเรา แล้วหันมาร่วมมือและสนับสนุน...มาเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาโลกร้อน ที่ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นทุกวัน

บางครั้งเราอาจคิดว่าการลดภาวะโลกร้อนมันทำได้ยาก หรือคิดว่าเราทำคนเดียวช่วยโลกไม่ได้ หรือว่าจะทำตอนนี้มันก็ไม่มีอะไรดีขึ้นแล้ว ถ้าคิดแบบนี้ผมว่าเรากำลังคิดผิด 

ทุกอย่างที่เราทำส่งผลดีต่อโลก และยังมีเวลาอยู่

ถ้าไม่เริ่มที่ตัวเราก่อนก็ไม่รู้จะให้ไปเริ่มจากตรงไหน แค่เราปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างของเราทำอยู่ในวันๆหนึ่ง ก็สามารถช่วยลดภาวะโลกร้อนได้แล้ว

ภาระกิจช่วยโลกในเช้าวันที่สองของทีม ชายหนุ่ม Cycling Island ...บนเกาะหมาก

เกาะหมาก...เป็นเกาะต้นแบบ ของประเทศที่มีการรณรงค์ ให้มีการท่องเที่ยวในรูปแบบโลว์คาร์บอน  เพื่อช่วยแบ่งเบากิจกรรมที่ทำให้เกิด ภาวะโลกร้อน

วันที่สอง ของเราทีม ชายหนุ่ม Cycling Island ในกิจกรรม Castaway @ Low Carbon Island เกาะหมาก เราสองคนตื่นก่อนตะวันเช่นเคย

เราปั่นจักรยานออกจากห้องพักฝ่าความมืดไปยังแหลมสน ระยะทางร่วม 8 กิโลเมตร ที่นั่นเรามีนัดกับชาวประมงพื้นบ้าน 

และในเช้าวันนี้ทีมเรา Cycling Island จะลงเรือไปกู้อวน กับชาวประมงพื้นบ้าน ที่แหลมสน



ในระยะทาง 8 กิโลเมตรเราปั่นจักรยานผ่านชุมชน ผ่านสวนยางที่มีชาวบ้านกำลังส่องไฟกรีดยางในตอนเช้ามืด 

บนถนนที่เราปั่นผ่านบางครั้งก็เจอนก ตบยุง นกเค้าโมง ออกมายืนหากินอยู่กลางถนน พอแสงไฟจักรยานส่องกระทบตัว ก็บินพรึบ เข้าไปในสวนยางข้างทาง ทำให้ผมรู้สึกตื่นเต้น แม้จะเห็นแว๊บๆ ก็ตามและรู้สึกเสียดายที่ไม่มีโอกาสบันทึกภาพนกเหล่านั้นไว้

เราปั่นบนเส้นทาง ที่เป็นทรายได้ไม่นานก็ถึงแหลมสน...แหลมที่สามารถมองเห็น เกาะกระดาด อยู่ไม่ไกล


 Cycling Island ...ออกทะเลหาปลา กับชาวประมงพื้นบ้าน

แสงสีส้ม ของดวงตะวันยามเช้า ค่อยๆ ส่องผ่านเมฆฝนทะมึนดำ ที่ลอยต่ำ เคลื่อนตัวจากทางด้านเกาะกระดาด มาทางเกาะหมาก...แต่ฝนไม่ใช่ปัญหาสำหรับทีมเรา กับภาระกิจที่รออยู่ข้างหน้า...คือการออกไปเก็บกู้อวน กับชาวประมงพื้นบ้าน เกาะหมาก

การท่องเที่ยว ในแบบโลว์คาร์บอน นักท่องเที่ยวสามารถช่วยลดปริมาณคาร์บอนได้ในชั้นบรรยากาศได้ โดยที่เราอาจไม่รู้ตัว คือการช่วยกันรณรงค์รับประทานอาหารทะเล ที่มาจากการทำประมงพื้นบ้าน 

วิถีการทำประมงพื้นบ้านนั้นจะมีช่วงเวลาหาปลาเฉพาะช่วง ชาวประมงจะออกเรือไปปล่อยอวนแล้วเข้าฝั่ง ใช้เครื่องมือที่เฉพาะเจาะจงกับชนิดของสัตว์น้ำ เช่น อวนจมสำหรับปลาทู ใช้ไดหมึกสำหรับจับหมึก แล้วปล่อยอยู่กับที่ เพื่อให้น้ำพาไปหาปลา หรือปลามาชนอวนเอง

"ประมงพาณิชย์ต่างจากประมงพื้นบ้านตรงที่ใช้เครื่องยนต์ขนาดใหญ่ ใช้อวนตาถี่ จับไม่เลือกชนิด ไม่เลือกเวลา และจับมากเกินขนาด ถ้าเข้าอวนก็จะจับทั้งหมด ไม่เลือก เมื่อออกไปจับปลาด้วยอวนลากจะใช้เวลา 4-5 วัน กว่าจะเข้าฝั่ง ในอวนที่ลากมาจะมีสัตว์น้ำขนาดเล็กติดมาด้วย เนื่องจากอวนตาถี่ ซึ่งถ้ามีโอกาสได้โตขยายพันธุ์เป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อย่างมากมาย"

การสูญเสียลูกปลาเศรษฐกิจจำนวนมหาศาลเช่นนี้ เป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ ของผลกระทบจากการประมงแบบทำลายล้าง



เรือหางยาวลำเล็ก นำเราออกไปสู่ทะเลระหว่างแหลมสน ของเกาะหมาก กับ เกาะกระดาด  เรือนำเราออกมาได้ประมาณ 500 เมตร ก็ถึงแนวปล่อยอวนแล้ว

เราจะเห็นได้ว่าท้องทะเลบริเวณ รอบๆเกาะหมากยังคงความสมบูรณ์ เพราะเมื่อเรากู้อวนขึ้นมา ได้ปูม้า ปูทะเล ปลากระเบน และปลาอีกหลากหลายชนิดติดอวนขึ้นมา...มีบางชนิด ที่ชาวประมงพื้นบ้านปล่อยลงสู่ท้องทะเลกลับคืนธรรมชาติ เช่นปลาปั๊กเป้า

เห็นได้ว่า การทำประมงพื้นบ้าน ไม่ทำลายล้างอย่างการทำประมงพาณิชณ์ขนาดใหญ่ แถมเราซึ่งเป็นนักท่องเที่ยว ก็ได้กินอาหารทะเลสดๆ ไม่ผ่านการแช่แข็ง หรืออาบน้ำยาเพื่อให้คงสภาพสด เหมือนการทำประมงขนาดใหญ่อีกด้วย



ชาวประมงพื้นบ้าน จะปล่อยปลาที่ไม่ต้องการกลับคืนสู่ทะเล

ชาวประมงพื้นบ้าน เกาะหมาก บอกกับเราว่าที่นี่มีปลาให้จับตลอดทั้งปี อาจจะเป็นกุ้ง ปลา ปลาหมึก ต่างกันออกไปตามกระแสน้ำและฤดูกาล นั่นสะท้อนให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ที่ไม่อาจเกิดขึ้นได้หากมีการทำประมงแบบทำลายล้าง

การประมงพื้นบ้านนี่เอง คือทางออกที่ยั่งยืนของทะเลไทย ซึ่งคนรักอาหารทะเลทุกคนสามารถช่วยชาวประมงฟื้นฟูทะเลด้วยการไม่สนับสนุนอาหารทะเลที่มาจากกาะประมงแบบทำลายล้าง เช่น ลูกปลา ปูไข่นอกกระดอง และปลาใกล้สูญพันธุ์ เป็นต้น ซึ่งปลาเล็กปลาน้อยเหล่านี้จะเติบโตขยายพันธุ์ต่อไป เป็นสิ่งง่ายๆ ที่เราทุกคนทำได้เพื่อความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลและอาหารของเรา




เกาะกระดาด







วิถีการทำประมงพื้นบ้าน ชาวเกาะหมาก

ปั่นไปชม...โรงคัดแยกขยะ บนเกาะหมาก

ในปัจจุบันปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้คำนึงถึงความสำคัญและมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่จะต้องแก้ไขปัญหา เพราะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนทุกระดับ เนื่องจากปัญหาสิ่งแวดล้อมมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศน์ 

แหล่งท่องเที่ยวหลายแห่ง มีนักท่องเที่ยวไปเที่ยวกันอย่างมากมาย มีการโปรโมทและพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวให้ได้มากที่สุด มีการนำเทคโนโลยี่ใหม่ๆ เข้าไปใช้  

การเพิ่มขึ้นของประชากรทำให้เกิดความต้องการในการใช้ทรัพยากรมากขึ้น โดยเฉพาะทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งนับวันจะเหลือน้อยและเสื่อมโทรมลงจนเกิดความไม่สมดุลของธรรมชาติ ทำให้อุณหภูมิโลกร้อน ฝนไม่ตกตามฤดูกาล เกิดมลพิษต่างๆ เช่นมลพิษทางน้ำ มลพิษทางน้ำ มลพิษทางอากาศ มลพิษทางเสียง

นอกจากนี้ยังพบปัญหาขยะมูลฝอยที่มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นจนไม่สามารถกำจัดได้หมด หรือกำจัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนเป็นปัญหาสำคัญในเขตชุมชนต่างๆ ไม่เว้นแม้กระทั้ง...เกาะหมาก

แต่ที่เกาะหมาก เกาะต้นแบบการท่องเที่ยวแนวโลว์คาร์บอน ที่สนุนโครงการโดย อพท.องค์การบริการการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)  ซึ่ง อพท.มีที่ปรึกษาที่มีความรู้ในการแก้ปัญหาขยะ อย่างครบวงจร 

เรียกว่า “เอนเนอร์ยี่ ปาร์ค” ซึ่งเป็นโครงการแนวพระราชดำริ ที่นำขยะมาทำประโยชน์ คือ ขยะสดจะแปรรูปเป็นก๊าซ ขยะพลาสติก จะทำเป็นน้ำมัน และเศษอาหารหรือขยะเปียกแปรรูปเป็นปุ๋ยชีวภาพ

ขยะในทางอุตสาหกรรม จะเรียกว่า วัตถุดิบที่จะนำมาใช้ประโยชน์อีกครั้งได้ ซึ่งขยะที่เกาะหมากก็สามารถนำมาแปรรูปใหม่ หรือรีไซเคิลและนำมาใช้ประโยชน์ โดยโครงการนี้เป็นโครงการแนวพระราชดำริ ซึ่ง อบต.เกาะหมาก สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ในแหล่งท่องเที่ยว และสำหรับเกาะหมากถือว่าเหมาะสม...เพราะเป็นเกาะต้นแบบ ของการท่องเที่ยว แนวโลว์คาร์บอน






ทีม ชายหนุ่ม Cycling Island ฟังเจ้าหน้าที่อธิบายถึงการทำงาน ในการคัดแยกขยะ


Wild Heart Komak สวนผักออแกนิค ...จากปุ๋ยชีวภาพ ในขบวนการแปรรูปขยะ

บนเกาะหมาก มีสวนผักออแกนิค อยู่หลายแห่งทั้งของผู้ประการโรงแรม ร้านอาหาร เอกชน และสวนของชาวบ้านเอง ผักออแกนิค บนเกาะหมาก มักถูกนำไปใช้ จำหน่าย และประกอบอาหาร ในโรงแรมร้านอาหารบนเกาะ อีกทั้งมีสวนผักออแกนิค ที่รอต้อนรับนักท่องเที่ยวเดินเก็บผักสดๆ นำมาประกอบอาหาร กินเดี๋ยวนั้นเลย เช่น สวนผักออแกนิค Wild Heart  ที่ทีมเรา ชายหนุ่ม  Cycling Island ปั่นจักรยานไปชิมกันสดๆ มาแล้ว





เราเดินเก็บผักสลัดสดๆ หลากหลายชนิด ที่โตงามด้วยปุ๋ย ชีวภาพ ที่ทำการแปรรูปมาจากขยะ "“เอนเนอร์ยี่ ปาร์ค” ที่เราพึ่งไปชมขบวนการมา

มื้อเที่ยงเราฝากท้อง ไว้ที่ Wild Heart ด้วยเมนู Burger สลัดผัก และน้ำผักสดๆ จากสวน ที่มีเนื้อว่านหางจระเข้ กรุบกรอบเป็นส่วนผสม

เราอิ่มท้องด้วย เมนูผักที่หวานกรอบอร่อย ที่ใช้ปุ๋ยแปรสภาพมาจากขยะมูลฝอย บนเกาะหมากเอง นักท่องเที่ยว ท่านใดที่ไปเที่ยวเกาะหมากอย่าลืมปั่นจักรยานไปทานเมนูผักสดๆ ที่สวนผักออแกนิค Wild Heart  ด้วยนะครับ รับรองไม่ผิดหวัง 





สวนผักออกแกนิค ที่ใช้ปุ๋ยชีวภาพ จากขยะเปียกบนเกาะหมาก






มนูอาหาร จากผักสดๆ ที่สวนผักWild Heart Komak สวนผักออแกนิค 


เราทีมชายหนุ่ม Cycling Island ปั่นจักยานออกจากสวนผัก ออแกนิค กลับสู่ที่พัก ที่อยู่ด้านทิศตะวันออกของเกาะ เมื่อภาระกิจของวันได้สิ้นสุดลง 

ในการปั่นจักรยาน ...ชมเกาะหมากโดยทั่วผมได้เห็นสิ่งต่างบนเกาะมากมาย กล่าวได้ว่า เสน่ห์ของเกาะหมาก อยู่ที่ความงามตามธรรมชาติ น้ำทะเลใสสะอาด ต้นไม้ร่มรื่น เงียบสงบ ไร้สิ่งก่อสร้างแปลกตา และยังมีอาหารทะเลสดๆ จากชาวประมงพื้นบ้าน ผักสดๆจากสวนผักออแกนิค

เกาะหมาก...จึงถือได้ว่าเป็นสวรรค์ ของเกาะที่โลว์คาร์บอน โดยแท้






ตะวันคล้อย ณ ทิวสวนมะพร้าว ...เกาะหมาก


วันนี้ ผมเริ่มรู้ว่า วิถีอันเรียบง่ายสามารถอยู่ร่วมกับการท่องเที่ยวได้ สวนมะพร้าวและสวนยางคือรายได้ที่แน่นอนของชาวเกาะหมาก และทิวของสวนมะพร้าวในยามพระอาทิตย์อัสดง ยังคงเป็นเสน่ห์ให้ผู้คนชื่นชม ระหว่างมาเยือน... เกาะหมาก เกาะโลว์คาร์บอน



ปั่นจักรยาน - Hui United

ไม่มีความคิดเห็น:

แกลอรี่รูปภาพTiewZogZag