วันพฤหัสบดีที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

ขับมอเตอร์ไซด์ร่อน...ท่องพัทยา...ไปชิวถึง บางเสร่



"ไปขับมอเตอร์ไซด์...ร่อนดีกว่า"...ผมคิดในใจคนเดียว ไม่ได้ตะโกนบอกใคร อยู่บ้านก็เซ็งๆ สู้แบกกล้องสะพายเป้ ออกไปรับลมชมวิว ที่ไหนซักแห่ง ที่มอเตอร์ไซด์เก่าๆ จะไปถึง ยังดีกว่านอนอยู่บ้านแบบซังกะตาย
ว่าแล้วก็หยิบเป้สะพายหลังที่บรรจุกล้องถ่ายรูป... สตาร์ทมอเตอร์ไซด์จ่ายตลาดคันเดิม บึ่งออกไปทางชายหาดพัทยา...
มอเตอร์ไซด์ฮ่าง...พาผมเลียบชายหาด ผ่านแหลม บาลีฮาย อ้อมขึ้นหลังเขา "ทัพพระยา" ไปทางด้านท่าเทียบเรือ ผมขึ้นไปนั่งจิบกาแฟ บนเขา ชมเมืองพัทยา ที่กำลังถูกปกคลุมไปด้วยตึกที่สูงตะหง่าน แปลกตากว่าปีที่ผ่านมา...สิ่งก่อสร้างใหม่ๆ ผุดขึ้นอย่างรวดเร็วยังกะดอกเห็ด ตอนได้รับน้ำฝนใหม่ๆ
เอสเปรสโซ่...รสขม จากร้านกาแฟที่ตกแต่งบนรถตู้สีส้ม บริเวณจุดชมวิวเมืองพัทยาหมดแก้ว 

ผมไม่นั่งละเลียดที่นั่นนาน ขึ้นค่อมมอไซด์ ขับไปไหว้พระที่วัดหลวงพ่อใหญ่...ปัจจุบันหลวงพ่อใหญ่ สวยงามสีทองอร่าม ไม่เหมือนเมื่อก่อน ที่มีแต่องค์พระที่ห่อหุ้มด้วยปูนเปล่าๆ

เมืองพัทยามองลงมาจากจุดชมวิว

 
หลวงพ่อใหญ่ บนเขาทัพพระยา

พอลงจากเขาทัพพระยา ผมบึ่งมอเตอร์ไซด์ผ่านไปทาง หาดนาจอมเทียน ...แต่ไม่ได้แวะที่นั่น คงเพราะผมชินตากับมุมต่างๆ ของหาดแห่งนี้เลยไม่ได้จอดเก็บภาพ...ในใจก็คิดว่าจะขับมอเตอร์ไซด์ร่อนไปทางไหนดี...ไม่มีหมุดหมาย บ้านชากแง้ว...ไร่องุน...เขาชีจรรย์...สวนนุงนุช...วัดญาณฯ...วิหารเซียน...คิดไปคิดมาชักร้อน...เลยตัดสินใจไปนั่งรับลม ชมเล...ที่ หาดบ้านบางเสร่ คงจะดี วันธรรมดานักท่องเที่ยวคงน้อย ไม่วุ่นวาย


ผมเลี้ยวลงไปตามซอยเล็กๆ ที่มีป้ายบอกทางว่า "หาดบางเสร่" ก่อนมาโผล่ริมทะเลมองเห็นป้าย ยินดีต้อนรับบดบังทะเลสีเขียวคราม ที่หัวโค้งมุมถนน ผมมองเห็นร้านอาหารเล็กๆ ริมหาดมีเตียงผ้าใบ และกาง ร่มลายพรางทหาร บดบังแสงแดด...ผมจอดรถแล้วลงไปสั่งกาแฟ อีกแก้ว กับน้ำเปล่า...นอนหลับบนเตียงผ้าใบไปหนึ่งหลับ 30 บาทรับลมทะเลชิวๆ อย่างสบายใจ 
ตื่นมาอีกที่ เกือบบ่ายสองโมงชักหิว สั่งกุ้งผัดพริกแกง...กินอิ่มแปร้...แล้วขับมอเตอร์ไซด์ ร่อนต่อหวังจะเข้าไปชมวิถีชาวประมงที่ริมทะเล บริเวณสะพานปลาใน หมู่บ้านบางเสร่




นอนเล่นริมหาดบ้านบางเสร่

 "หาดบางเสร่" เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งของอำเภอสัตหีบ เลยก็ว่าได้ครับ เป็นชายหาดที่ยาวประมาณ 1500 เมตร ในปัจจุบัน หาดบางเสร่ได้ถูกพัฒนาจนมีความสวยงามและได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวเข้ามาพักผ่อนจำนวนมากโดยเฉพาะในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ และที่นี่มีร้านอาหารทะเลไว้คอยให้บริการนักท่องเที่ยวที่มาเยือน จากร้านรถเข็นริมหาด ...และร้านอาหารทะเลดังๆ ก็มีให้บริการ บริเวณสะพานปลาบางเสร่

 



หาดเล็กๆที่มีความร่มรื่น...จากแนวของต้นมะพร้าว  ที่นี่มีกิจกรรมทางน้ำ ไว้คอยบริการนักท่องเที่ยวด้วยเช่นกันครับ ไว่ว่าจะเป็น ห่วงยาง เรือกล้วย และเรือคายัค... (สุรา เบียร์ ที่นี่ก็มีน่าจะรวมใน กิจกรรมทางน้ำด้วยครับ ฮาาาๆๆ)
ผมสอบถามแม่ค้าบริเวณชายหาดเห็นว่าอาทิตย์แรกของเดือน บริเวณถนนริมหาดบางเสร่ จะจัดเป็นถนนคนเดิน มีอาหารทะเลพื้นบ้าน สินค้าพื้นบ้านวางขายตลอดแนวของถนนเลยหล่ะครับ


ร้านค้าริมหาดบางเสร่






ทัศนียภาพ หาดบางเสร่



ทุกอาทิตย์แรกของเดือน ถนนริมหาดจะถูกจัดเป็น ถนนคนเดิน ขายสินค้าพื้นบ้าน




ผมขับมอเตอร์ไซด์...เข้าไปยังสะพาน เพื่อเก็บภาพ มองเห็นวัดบางเสร่ อยู่ไม่ไกล ที่วัดแห่งนั้นจะมีวิหารหลวงพ่อทองอยู่ และ วิหารหลวงพ่อทันใจ ถ้าใครมีโอกาสแวะเข้าไปอย่าลืมไปกราบไหว้กันนะครับ หลวงพ่อทองอยู่วัดบางเสร่ นับว่าเป็นเกจิอาจารย์ ที่มีชื่ออีกองค์ของ จังหวัดชลบุรี
แดดร่มลมตก...ผมขับมอเตอร์ไซด์ มุ่งหน้ากลับ สู่เมืองพัทยา...อย่างสบายใจ


วันอังคารที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

เบิ่ง...เชียงคาน...ฮั่นแน้ว!! (ตอนที่ ๑)

เชียงคาน...เมืองสงบริมแม่น้ำโขง

 สัมผัสแรกที่ผมมองเห็น แม่น้ำโขง ไหลเอื่อยอยู่หน้าห้องพัก "อุ่นรักรีสอร์ท"  บริเวณแก่งคุดคู้ ทำให้ผมนึกถึงการไหลลงมาจากต้นกำเนิดของแม่น้ำสายนี้คือ เทือกเขาหิมะลัย...แม่น้ำโขงไหลเรื่อยลงมาผ่านเข้าสู่ภาคเหนือของไทยเพียงจังหวัดเดียวคือเชียงราย ที่อำเภอเชียงแสน อำเภอเชียงของ  เมื่อพ้นอำเภอนี้ไปแล้วก็เลี้ยวเข้าไปยังประเทศลาว ผ่านหลวงพระบาง แล้วจึงไหลกลับมาเป็นพรมแดน ให้จังหวัดเลย และจังหวัด สานะคาม ของลาว
เลย...ถือว่าเป็นจังหวัดทางภาคอีสานจังหวัดแรกที่แม่น้ำโขงไหลผ่าน หลังจากนั้นจึงไหลผ่านไปที่ หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ก่อนจะไหลเข้าสู่แผ่นดินลาวอีกครั้ง
ที่ไหนมีแม่น้ำ...ที่นั่นย่อมมีชุมชน
อดีต...เชียงคาน เคยเป็นเมืองท่าในการเดินทางค้าขายระหว่างผู้คน ๒ ฝั่งโขง ซึ่งเดินทางข้ามไปมาได้อย่างอิสระเสรี
การไปมาหาสู่กันได้ง่ายระหว่างสองฝั่งโขง ทำให้เชียงคาน นอกจากจะสืบทอดวัฒนธรรมตามแบบคนไทยโบราณ ยังได้ผนวกรวมเอาหลากหลายประเพณีพื้นบ้านเข้าไว้ด้วยกัน ทั้งแบบล้านนา ล้านช้าง หลวงพระบาง และไทดำ


 

เชียงคาน...เป็นเมืองที่รุ่งเรืองในอดีตมาเป็นระยะเวลานาน จนกระทั้งเริ่มมีถนนหนทางมากขึ้น ความสำคัญในการคมนาคมทางน้ำลดน้อยลงไป ทำให้เชียงคาน เมืองริมแม่น้ำโขงสงบเงียบมานาหลายปี และความสงบนี้เองกลับมาเป็นเสน่ห์ให้กับเมืองริมโขงอย่าง...เชียงคาน
เชียงคาน...เริ่มเปิดตัวด้านการท่องเที่ยวเมื่อปี ๒๕๕๒ โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท) แรกเริ่มเป็นการท่องเที่ยวในชุมชน มีวัดเป็นจุดศูนย์กลาง แต่ละชุมชนมีจุดเด่นที่แตกต่างหลากหลาย มีวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง วัฒนธรรมเหมือนกับชาวหลวงพระบาง เช่นการพูด วิถีความเป็นอยู่ มีการตักบาตรข้าวเหนียว หัตถกรรมพื้นเมืองเช่นการทำผ้าห่มนวมฝ้าย อาหารการกิน ที่พักอาศัยเป็นบ้านไม้เก่า มีความยาวไปตามถนนเลียบแม่น้ำโขงกว่า ๒ กิโลเมตร บ้านไม้เก่านับเป็นเอกลักษณ์ของ เชียงคาน















คนเมือง...ที่มีวิถีชีวิตอันรีบเร่ง วุ่นวาย เมื่อได้มาเยือนเชียงคาน มักพบกับความสงบ ผ่อนคลาย ทำให้เกิดการบอกต่อถึงเมืองๆ หนึ่งที่ย่าไปพักผ่อน ที่เชียงคาน มีวิวทิวทัศน์ที่สวยงาม มีวิถีชีวิตของผู้คนที่เรียบง่ายและมีบ้านเรือนของผู้คน ที่เหมือนกับได้เดินชมพิพิธภัณฑ์ บ้านเก่าย้อนยุค ที่หาสัมผัสได้ยากในสังคมเมือง
ชาวเชียงคาน ส่วนใหญ่ยังคงรักษาบ้านเรือนหลังเก่าเอาไว้ ที่จึงเสมือนกับเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตและสัมผัสได้จริง ทำให้เชียงคานถูกเลือกให้เป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวอย่างมากมาย ในตลอดหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะช่วงฤดูหนาวเป็นช่วงที่เชียงคานสวยที่สุด





ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยว ที่ไปเยือนเชียงคานในแต่ละปีมีจำนวนมาก บ้านเรือนไม้เก่า(บางหลัง) ก็จะถูกดัดแปลง เป็นบ้านพักโฮมสเตย์ รีสอร์ท เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่มีจำนวนมากขึ้น เชียงคานค่อยๆเปลี่ยน จากเชียงคานที่บริสุทธิ์สดใส เป็นเชียงคานที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ตามความเจริญที่ก้าวเข้ามาอย่างรวดเร็ว
เป็นความโชคดีของเชียงคาน...ที่ความเจริญขั้นขีดสุด ยังไม่เข้าสู่เชียงคาน ชาวเชียงคานเอง ยังรัก และหวงแหน บ้านไม้เก่าๆ ยังรักขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมเดิมๆ...เชียงคานจึงเป็นเมืองที่ยังคงมีมนต์เสน่ห์ น่าไปเยือนได้อย่างไม่น่าเบื่อ 
เชียงคานยังมีโครงการดีๆ ที่ร่วมมือกันระหว่าง องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.)ละ สมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (Teata ) ทั้งสองหน่วยงานผนึกกำลังสร้างแบรนด์ดิ้งพื้นที่พิเศษเชียงคาน เพื่อให้เกิดการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน

นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ์ รองผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และ
นางดวงกมล จันสีริยวงศ์ นายกสมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (ตีต้า)  ร่วมแถลงข่าว


นางดวงกมล จันสีริยวงศ์ นายกสมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (ตีต้า)


ท่านสารวัตร และนายอำเภอเชียงคาน ร่วมถ่ายภาพ

เชียงคาน...มีชุมชนถนนสายวัฒนธรรมบ้านไม้เก่าริมโขง มีลักษณะเป็นชุมชนดั้งเดิมที่มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ทั้งด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ประเพณี ภูมิปัญญา และสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น 
เชียงคาน...เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิง วิถีชีวิต และ วัฒนธรรม ถือเป็นไม้เก่าที่สามารถเล่าเรื่องราวได้ ในเชิงบ้านเก่าเล่าเรื่อง หรือบ้านไม้เก่าที่มีชีวิต

เชียงคาน...กำลังจะเปลี่ยนไป
นักท่องเที่ยวที่เดินทางไปเที่ยวที่เชียงคาน...ต่อไป เชียงคานไม่ได้มีแค่ วิวฝั่งแม่น้ำโขง ไม่ได้มีแค่การชมทะเลหมอกบนภูทอก ไม่ได้มีแค่การตักบาตรข้าวเหนียว และ ไม่ได้มีแค่ถนนคนเดินในยามค่ำคืน
แต่เชียงคาน...ยังมีเส้นทางท่องเที่ยว บ้านไม้เก่าโบราณอายุนับร้อยปีที่ซุกตัวอยู่ตามซอยต่างๆ ซึ่งแต่ละหลังมีอัตลักษณ์เฉพาะตัว...เชียงคาน ยังมี อาหาร ร้านค้า ที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร...เชียงคานมีเส้นทางจักรยาน ที่ปั่นเลาะริมแม่น้ำโขง ไปจนถึง แก่งคุดคู้
ที่เชียงคาน...ยังมีของดีๆ อีกเยอะแยะมากมาย ที่รอนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และ ชาวต่างประเทศ ไปสัมผัส อาทิเช่น
- บ้านไทดำนาป่าหนาด และ บ้านไทพวน ที่มีเอกลัษณ์ทางวัฒนธรรมชนเผ่า ที่มีฝีมือในการทอผ้า ดนตรธรรมชาติและการเต้นรำเพื่อบูชาเทพ และบรรพบุรุษ
-ประเพณีผีขนน้ำ บ้านนาซ่าว มีการวาดหน้ากากผีขนน้ำเพื่อใช้ในพิธีกรรมขอฝน และเซ่นไหว้เทพและบรรพบุรุษ
-ที่เชียงคานมีวัดเก่าแก่หลายวัด ที่มีการสร้างคล้ายวัดในหลวงพระบาง
-เชียงคานมีข้าวหลามยาวที่สุดในโลก ที่มีรสชาติอร่อย หอมหวาน ทำขายไม่เกิน ๕๐ กระบอกต่อวัน
-พิธีปล่อยผาสาดลอยเคราะห์
-เชียงคานยังมีการทำเครื่องจักสาน
และที่เชียงคานยังมีการสืบทอดการตัดกระดาษรูปพวงมาลัย เพื่อใช้ถวายวัด ถวายเป็นเครื่องประดับที่วัดงานกฐิน งานบุญพระเวส ฯลฯ โดยครูศิลป์ของแผ่นดินคนที่ ๗ คือ ครูคูณ จงใจ




 
บ้านเก่าโบราณ (ติดตามในตอนต่อไป)



การทำเครื่องจักสาน (ติดตามในตอนต่อไป)


ประเพณีผีขนน้ำ (ติดตามในตอนต่อไป)


ครูคูณ จงใจ ครูช่างตัดกระดาษ แห่งจังหวัดเลย ครูศิลป์ของแผ่นดินคนที่ ๗ (ติดตามในตอนต่อไป)


เชียงคาน...ยังมีแหล่งท่องเที่ยว ตามวิถีชุมชนอีกมากมาย ที่น่าสนใจ คอยติดตามท่องเที่ยว ชมเมืองเชียงคาน ไปกับ"ชายสามหยด" อย่างจุใจ ในตอนต่อไปครับ

https://www.facebook.com/anontaseeha/  เพจ "ชายสามหยดพาเที่ยว"

https://www.facebook.com/soksagtravelling/ เพจ "เที่ยวซอกแซก - ZogZag Travelling


ชายฝั่งโขง - นิค นิรนาม

แกลอรี่รูปภาพTiewZogZag