วันพุธที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ขี่เสือตลุย...ปั่นเที่ยวเกาะหมาก...ในสไตล์โลว์คาร์บอน(ตอนที่ 1)

  การเดินทางสู่...เกาะหมาก...เกาะโลว์คาร์บอน 
การเดินทางท่องเที่ยวของแต่ละคน แต่ละวัย ย่อมแตกต่างกัน การท่องเที่ยวของบางคนหมายถึงการเดินทางเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ บางคนท่องเที่ยวเพื่อแสวงหาความรื่นรมย์ให้แก่ชีวิต แต่ในขณะที่บางคนเพียงต้องการกลับไปเยือนสถานที่หนึ่งเพื่อมองตนเองในอดีต แต่ไม่ว่าการเดินทางท่องเที่ยวของใครจะเป็นรูปแบบใด หากมีโอกาสคงไม่ปฏิเสธว่าทุกคนพร้อมที่จะเดินทาง
มีใครบางคนกล่าวเอาไว้ว่า ...พาหนะในการเดินทาง ล้วนช่วยให้คนเราได้ “เห็นโลก” แตกต่างกัน วัตถุประสงค์และเป้าหมายของแต่ละคน  ย่อมนำคนเดินทางไปพบกับปลายทางคนละแบบ
การเดินทางท่องเที่ยวเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ทั้งจากการเดินทาง การเข้าพักในโรงแรม ตลอดจนกิจกรรมการท่องเที่ยวต่างๆ หรือแม้แต่ปริมาณขยะที่นักท่องเที่ยวทิ้งไว้ในแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ
ถ้าหากมีนักท่องเที่ยว ผู้ประกอบการ และชาวบ้านท้องถิ่น ในแหล่งท่องเที่ยวซักแห่งหันมาใส่ใจกับสิ่งแวดล้อม มากยิ่งขึ้น  คำนึงถึงการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดขึ้นระหว่างการเดินทางท่องเที่ยว โดยการเลือกกิจกรรมท่องเที่ยวควบคู่กับการอนุรักษ์ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุด มีการปลูกต้นไม้ เพื่อชดเชยการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์...แหล่งท่องเที่ยวแห่งนั้นก็จะไม่ช้ำ และ จะเกิดการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ต่อไป
เกาะหมาก...เกาะต้นแบบการท่องเที่ยวในสไตล์โลว์คาร์บอน
“เกาะหมาก” เป็นอีกเกาะที่น่าไปสัมผัสเพราะเกาะหมาก ได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ที่มีความแตกต่างจากพื้นที่เกาะอื่นๆ ของประเทศไทย เนื่องจากเกาะหมากมีความร่วมมือของผู้ประกอบการท่องเที่ยวท้องถิ่น โรงแรม รีสอร์ท และร้านอาหาร และ ชาวบ้านบนเกาะหมากเอง
ผู้ประกอบการ ชาวบ้านบนเกาะหมาก ร่วมมือกันไม่สนับสนุนให้นำรถยนต์เข้ามาบนเกาะ ไม่สนับสนุนให้มีการเล่นกีฬาทางน้ำด้วยเครื่องเล่นที่มีเครื่องยนต์ อย่างเจ็ทสกี และสกู๊ตเตอร์ และไม่สนับสนุนให้เปิดสถานเริงรมย์ยามวิกาล เช่น ผับ บาร์ ร้านเหล้า ลานเบียร์ อันส่งผลให้เกิดเป็นแหล่งมั่วสุมของนักท่องเที่ยว
เกาะหมาก จึงยังคงสภาพแวดล้อมความเป็นธรรมชาติที่สวยงาม เงียบสงบ และรักษาวิถีชีวิตของคนท้องถิ่นไว้ได้มากท่ามกลางกระแสการท่องเที่ยวหลักที่เน้นความสะดวกสบาย แต่กลับทำลายสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติทั้งทางตรงและทางอ้อม


การเดินทางท่องเที่ยว “เกาะหมาก” ซึ่งเป็นครั้งแรกของผม เกิดขึ้นเพราะมีโครงการดีๆ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนั่นคือโครงการ Castaway @ Low Carbon Island ที่ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ได้จัดทำโครงการและสนับสนุนการพัฒนาการท่องเที่ยวในรูปแบบLow Carbon Tourism เพื่อตอบรับกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกด้านสภาพภูมิอากาศซึ่งมีเป้าหมายหลักในการลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากกิจกรรมการท่องเที่ยว
ก่อนการเดินทางมาร่วมกิจกรรม Castaway @ Low Carbon Island เป็นธรรมดาที่คนมา เกาะหมาก ครั้งแรกอย่างผมต้องกางแผนที่หมู่เกาะทะเลตราดขึ้นมาดู และผมพบว่า หมู่เกาะทะเลตราดนั้นมีเกาะน้อยใหญ่มากมายกว่า 52 เกาะเลยทีเดียว ในหมู่เกาะทะเลตราดมีเกาะยอดนิยมอยู่ 3 เกาะที่นักท่องเที่ยวนิยมไปท่องเที่ยว ได้แก่ เกาะช้าง เกาะหมาก และเกาะกูด ซึ่งในบริเวณใกล้เคียงเกาะเหล่านี้ก็ยังมีเกาะเล็กๆ เป็นเกาะบริวารให้ไปเที่ยวได้เช่นกัน
เกาะหมาก เป็นเกาะที่มีพื้นที่เป็นอันดับ 3 ในหมู่เกาะทะเลตราด รองจากเกาะช้างและเกาะกูด ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเกาะช้าง เป็นเกาะที่มีรูปร่างคล้ายกากบาท หรือดาวสี่แฉก จึงอาจจะเป็นที่มาของชื่อเกาะหมาก (มาร์ค) ตั้งอยู่ระหว่างเกาะช้าง และเกาะกูด มีพื้นที่ ประมาณ 9,000 ไร่ จากแผนที่ผมมองเห็น อ่าวสวนใหญ่ อ่าวพระ อ่าวลอม อ่าวตาโล่ง อ่าวตาไข่ อ่าวตั๋น อ่าวไผ่ อ่าวนิดฯลฯ และเกาะบริวารใกล้เคียง ที่เด่นๆ ก็ เช่น เกาะขาม เกาะกระดาด เกาะระยั้งนอก เกาะระยั้งใน ล้วนเป็นเกาะใกล้เคียงที่น่าท่องเที่ยวในสไตล์ โลว์คาร์บอนทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นการพายเรือคายัค แล่นเรือใบ ฯลฯ
แผนที่เส้นทางปั่นจักรยาน บนเกาะหมาก (สีเขียว)

ผมซึ่งเป็น 1 ใน 10 บล็อกเกอร์อาสารักษ์โลก  ได้รับเกียรติจาก องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท ให้ผมได้มีโอกาสเดินทางมาร่วมทำกิจกรรมดี Castaway @ Low Carbon Island ในนามทีม Cycling Island (ปั่นตะลุยเกาะ) ซึ่งมีเพื่อนร่วมทีม รูปหล่อ มาดเท่ห์ ขาลุย อย่างน้องหนุ่ม บล็อกเกอร์ช่างภาพขาลุย Big Stopper Photography” มาพร้อมกับสโลแกนมันส์ๆ ถ้ากางเกงในแห้ง ผมไปได้ทุกที่ มาคอยติดตามกันว่าตลอดภารกิจ การปั่นจักรยานตลุยเกาะหมาก ตั้งแต่เช้าจรดเย็น ทั้ง 3 วัน กางเกงในของน้องหนุ่ม จะแห้งทันหรือไม่
ภารกิจวันแรก... ของนักปั่นชายหนุ่ม แห่งทีม Cycling Island
โชคดีที่ผมมีเพื่อนร่วมทีม ชื่อหนุ่ม และผมชื่อชาย เลยเรียกว่าเป็น “นักปั่นชายหนุ่ม” ได้ด้วยความภาคภูมิใจและเต็มปาก เต็มคำ ต่อจากนี้ในบล๊อก อาจจะเจอกับคำว่า นักปั่นชายหนุ่ม กันถี่ขึ้นก็เป็นอันรู้กัน ว่าทีม Cycling Island นั้นเป็นทีม ชายหนุ่ม จริงๆ
 หลังจากที่ทีมนักปั่นชายหนุ่ม ทั้ง 2 ได้นั่งซักซ้อมวางแผนศึกษาเส้นทางการปั่น โยกภารกิจ และเวลาในตารางกิจกรรม บางส่วนซะดึกดื่น จนเป็นอันเข้าใจกันดีแล้ว...เช้า ก่อน 8 โมงพวกเรา รีบปิดแอร์ออกจากห้อง เพื่อประหยัดไฟ ลดโลว์คาร์บอน เตรียมตัวพร้อมตลุยเกาะหมาก ด้วยจักรยานเสือภูเขา พร้อมที่จะให้เราเช่าในราคาพิเศษ จากปกติวันละ 150 บาทเหลือวันละ 50 บาท ที่ร้าน Ball Café แต่เดี๋ยว...โปรโมชั่นนี้ เฉพาะทีมนักปั่นชายหนุ่ม ในภารกิจ Castaway @ Low Carbon Island ในระยะเวลา 3 วันนี้เท่านั้นนะครับหลังจากนั้นราคา ปกติครับ แต่ขอบอกว่า เป็นจักรยานยี่ห้อดัง น้ำหนักเบาน่าปั่นทุกคัน



ทีมชายหนุ่ม Cycling Island ได้ทำการเลือกจักรยาน ตรวจเช็คอุปกรณ์ ลมยาง โซ่ เกียร์ ปรับระดับอานเรียบร้อยแล้ว  ได้ออกปั่นไปตามทางคอนกรีตที่เงียบสงบราบเรียบ  ผ่านสวนยาง สวนมะพร้าว ที่เรียงรายสูงตะหง่าน มองดูแล้วเป็นระเบียบสวยงาม

แวะทักทายผู้ใหญ่โบ๊ท...ผู้ใหญ่บ้านแหลมสน หมู่ 2

เราเจอผู้ใหญ่โบ๊ท ผู้ใหญ่บ้านบ้านหนุ่มหล่อวัย 30 ขวบ ที่ร้านอาหารตามสั่ง ที่เราแวะไปฝากท้องในมื้อแรก พวกเราพูดคุยถึงเส้นทางการปั่นจักรยาน ถามถึงจุดแวะที่น่าสนใจ และ ความเป็นอยู่ของชาวบ้านเกาะหมาก
ด้วยผู้ใหญ่โบ๊ทมีน้ำเสียงที่เหน่อในแบบฉบับชาวตราดขนานแท้ แถมมีบุคลิกคล้ายสามารถ  พยัคฆ์อรุณ อดีตนักมวยดัง ทำให้การพูดคุย ของเรากับผู้ใหญ่โบ๊ท ออกรสชาด มีความเป็นกันเองและสนุกสนานเป็นอย่างมาก


ต้นมะพร้าวติดทะเบียน
การปั่นจักรยาน มันทำให้ผม และเพื่อนร่วมทีมชายหนุ่ม Cycling Island เดินทางช้าลง ซึ่งก็มากพอที่จะเข้าใจสภาพความเป็นอยู่ของผู้คนที่พวกเราผ่านไปพบ มีเวลามากขึ้นในการทำความเข้าใจโลก เข้าใจธรรมชาติ เข้าใจอดีตกาลในพื้นที่ ที่ล้อของจักรยานบดผ่าน ในขณะเดียวกันจักรยานยังเป็นพาหนะที่นำไปสู่การเข้าใจตัวเองมากขึ้นอีกด้วย
ผู้ใหญ่โบ๊ทคว้าจักรยานปั่นตามเรา ไปยังสวนมะพร้าวข้างทางที่เราปั่นผ่าน ซึ่งเราสังสัยและตั้งคำถามไว้ว่าทำไมต้นมะพร้าว บนเกาะหมาก จึงมีแผ่นป้ายเขียนหมายเลขกำกับติดไว้ เกือบทุกต้น
พวกเราได้รับคำตอบ จากผู้ใหญ่โบ๊ทว่า ต้นมะพร้าวที่มีหมายเลขกำกับคือต้นมะพร้าวที่มีการสัมปทาน จากบริษัทผลิตน้ำมันมะพร้าว จึงมีการติดหมายเลขหรือแผ่นป้ายทะเบียนไว้ เพื่อเป็นการสะดวกสะดวกในการจดบันทึก ผลผลิต และการเก็บเกี่ยวของมะพร้าวต้นนั้นๆ
 ด้วยต้นมะพร้าว ที่มีความสูงหลายสิบเมตร เมื่อก่อนที่เกาะหมากจะเก็บมะพร้าว ด้วยการใช้ไม้ยาวๆสอย ลงมาจากต้น แต่ปัจจุบันสอยแบบเดิมไม่ไหว ต้องรอให้มะพร้าวแก่แล้วล่วงลงมาเอง ผู้ใหญ่โบ๊ท ยังบอกอีกว่าบนเกาะหมากใช้ลิงขึ้นมะพร้าวเหมือนแถวภาคใต้ไม่ได้ เพราะที่นี่มีมดเยอะ...ลิงจะแพ้มด

 


ผู้ใหญ่โบ๊ท ปั่นจักรยานพามาชมสวนมะพร้าวติดหมายเลข


ชาวบ้านเก็บขวดพลาสติก ขวดแก้ว และลังกระดาษ ไปขาย เพื่อนำไปรีไซเคิล ต่อไป เป็นการช่วยลดปริมาณขยะอีกทา

ปั่นชมวิถีชาวบ้าน... ที่อ่าวตาโล่ง
เราปั่นจักรยาน ออกจากสวนมะพร้าว มุ่งหน้าสู่อ่าวตาโล่ง โดยมีผู้ใหญ่โบ๊ท เป็นคนปั่นนำทางในบางช่วง สุดท้ายขาแรง อย่างพวกเราก็แซงขึ้นหน้า เรารู้สึกได้ถึงความชุ่มชื่น เมื่อปั่นผ่านป่าไม้ที่หนาทึบ ที่ขึ้นอยู่เต็มสองข้างทาง เราผ่านสวนยางที่มีลำต้นสูงใหญ่ นั้นหมายความว่า บนเกาะหมากน่าจะมีการปลูกยางมานานกว่า 50 ปี 
บนเส้นทางนี้เราได้ยินเสียงนกนานาชนิด ร้องรับสอดประสานกันไปมา จนทำให้เลือดนักดูนกสมัครเล่นอย่างผมและหนุ่ม พลุ่งพล่านจนอยากจะจอดรถจักรยานแล้วลงไปเดินส่องนกที่โผบินข้ามเส้นทางที่เต็มไปด้วยป่ากันไปมา
ผู้ใหญ๋โบ๊ทชี้ให้เราดูต้นใบชะพลู ที่ขึ้นอยู่ริมทางเต็มไปหมด ผู้ใหญ่บอกเราว่าใบชะพลู บนเกาะหมากไม่ต้องซื้อหาเก็บไปปรุงอาหารได้เลย เพราะมีขึ้นอยู่มากมาย...และเย็นนี้พวกเราอาจจะได้ลิ้มรส แกงหอยครางใส่ใบชะพลู ที่ขึ้นอยู่ริมทางแห่งนี้
 อ่าวตาโล่งเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านชาวประมงบนเกาะหมาก วิถีชีวิตของชาวบ้านอ่าวตาโล่งยังเป็นไปอย่างเรียบง่าย เหมาะกับการปั่นจักรยาน เพื่อมาสัมผัสชมวิถีชาวประมง ที่อ่าวแห่งนี้เป็นอย่างมาก
นอกจากจะได้ชมวิถีของของชาวประมงแล้ว บริเวณอ่าวตาโล่งแห่งนี้ยังมีซากตึกโบราณอีกด้วย เห็นผู้ใหญ่โบ๊ทบอกเราว่าอาคารแห่งนี้มีอายุกว่าร้อยปี เพราะสังเกตุจากต้นไม้ต้นใหญ่ ที่ขึ้นและเติบโตอยู่ที่กลางอาคาร





 ซากตึกโบราณ อยู่บริเวณ อ่าวตาโล่ง

ผู้ใหญ่โบ๊ทเล่าให้เราฟังว่า
ชุมชนดั้งเดิมบนเกาะหมาก ส่วนใหญ่เป็นเขมรเชื้อชาติไทย ที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานเมื่อครั้ง เกาะกงเป็นของฝรั่งเศส โดยมีหลวงพรหมภักดี ต้นตระกูลตะเวทิกุล เป็นผู้ควบคุมคนจีนบนเกาะกง คนบนเกาะส่วนใหญ่เป็นเครือญาติกัน มีอาชีพเกษตรกรรมทำสวนยางพารา และสวนมะพร้าว จน"เกาะหมาก"ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งปลูกมะพร้าวที่สำคัญของจังหวัดตราด 
ตอนผมปั่นจักรยาน ลงมาที่อ่าวตาโล่งจึงไม่แปลกใจ ที่ได้เห็นสวนยางพาราโบราณต้นใหญ่ๆ เห็นสวนมะพร้าวที่มีลำต้นสูงลิบลิ่ว และยังมาเจอตึกโบราณ เรือโบราณ ที่ใช้อพยพ ซึ่งปัจจุบันเรือได้ถูกนำมาต่อเป็นบ้าน เพื่ออยู่อาศัยริมทะเลสวยงามมาก




เรือโบราณที่ผู้ใหญ่โบ๊ท เล่าให้เราฟัง ว่าใช้อพยพผู้คนมายังเกาะหมากในยุคแรกๆ ปัจจุบันนำมาสร้างเป็นบ้าน

บริเวณอ่าวตาโล่ง นอกจากเราจะได้ชมวิถีของชาวประมงแล้ว ที่นี่ยังมีการนำมะพร้าวที่แก่จัด มาแกะเอาเนื้อ แล้วนำไปตากแดด จากนั้นจะมีบริษัทผลิตน้ำมันมะพร้าว มารับซื้อถึงที่ เลยครับ
เราเจอลุงสิงห์ คนเก่าแก่แห่งเกาะหมาก กำลังง่วนอยู่กับการรับจ้างแกะเนื้อมะพร้าว แล้วนำไปตากแห้ง เห็นว่าเมื่อนำไปขายจะได้กิโลกรัมละ 10 กว่าบาท  

 



 


ลุงสิงห์ แกะเนื้อมะพร้าวแก่ ไปตากแดด เพื่อนำไปขายให้กับโรงงานผลิตน้ำมันมะพร้าว

อ่าวตาโล่งไม่มีชายหาด หรือหาดทรายที่สวยงามสำหรับให้ลงเล่นน้ำก็จริง แต่การที่ทีมเราได้มีโอกาสปั่นจักรยานมาสัมผัสถึงวิถีชีวิตของชาวบ้านอ่าวตาโล่ง เราไห้เราได้เห็นความงดงามของวิถีที่คนเราอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างลงตัว
ผู้ใหญ่โบ๊ท บอกกับเราว่า ชาวบ้านเกาะหมาก พอเพียงกับสิ่งที่มีอยู่ และอยากให้ดำเนินไปในแบบปัจจุบันมากกว่า พวกเขาไม่ต้องการความเจริญเข้ามาสู่เกาะหมากมากกว่านี้ พวกเขาอยากให้วิถีเดิมๆ ขนบธรรมเนียม จารีตเดิมๆ อยู่คู่เกาะหมากตราบนานเท่านาน และยั่งยืนตลอดไป



ทีมชายหนุ่ม Cycling Island ได้รับน้ำใจจากชาวบ้านอ่าวตาโล่ง นำน้ำมาให้เราดื่มและเติมใส่กระบอก

บ่อยครั้ง ที่ผมเห็นความมีน้ำใจของคนไทยเหือดหายไปกับสังคมในยุคปัจจุบัน ความเร่งรีบกับวิถีที่ต้องแข่งขัน สังคมที่เปลี่ยนเป็นสังคมก้มหน้าไม่ใส่ใจกับสิ่งรอบตัว 
การได้มีโอกาสออกเดินทางไปสัมผัสกับวิถีดั้งเดิม สังคมที่มากด้วยน้ำจิตน้ำใจ ชาวบ้านใส่ใจในสิ่งแวดล้อม ผมว่า เกาะหมาก เป็นตัวเลือกที่ชัดที่สุดครับ สำหรับการท่องเที่ยว ในแนว สโลว์ไลฟ์...แถมยังโลว์คาร์บอน อีกด้วย

ปั่นไปเที่ยวบ้านผู้ใหญ่โบ๊ท...แถวอ่าวบ้านล่าง
ผู้ใหญ่โบ๊ท ผู้ใหญ่บ้านหนุ่มรุ่นใหม่ วัย 30 ผู้มีหัวใจอนุรักษ์ ปั่นจักรยานนำเราไปทางอ่าวบ้านล่าง ตามเส้นทางตัดใหม่ เพื่อพูดคุยถึงสถานที่ ที่จะให้เราลงไปจับหอยครางในช่วงเย็นวันนี้
เราสัมผัสได้ถึงความเรียบง่าย ความพอเพียงของผู้ใหญ่โบ๊ท บ้านหลังน้อย กระทัดรัด ดูแล้วอบอุ่นสำหรับครอบครัวเล็กๆ พ่อแม่ลูกชายวัย 2 ขวบ จนผมต้องแอบอิจฉา ในความสงบเงียบ ท่ามกลางอากาศที่บริสุทธิ์ ไร้มลภาวะที่เป็นพิษ
มะพร้าว ลูกงามสดๆ จากต้นหน้าบ้าน ถูกผู้ใหญ่โบ๊ทใช้มีดขอฟันฉับแล้วเฉาะให้เราดูดดื่ม ลิ้มรสความหอมหวาน จากน้ำมะพร้าวเกาะหมาก เป็นอึกแรก มะพร้าวที่นี่ ไม่ต้องแช่เย็นให้เปลืองพลังงาน ลดการเพิ่มปริมาณคาร์บอนในอากาศ...แต่กับหอมหวาน เย็นชื่นใจ เพราะสดจากต้น มาจากธรรมชาติล้วนๆ
ถ้าการเดินทางท่องเที่ยว แล้วหาโอกาสดื่มเครื่องดื่มที่มาจากธรรมชาติ ไม่ผ่านการผลิตจากโรงงานอุตสาหกรรม บรรจุใส่ขวด พลาสติก หรือกระป๋อง ผมว่าน่าจะช่วยลดปริมาณคาร์บอนในอากาศที่เกิดขึ้นจากขบวนการผลิต จากการขนส่ง และขยะจากบรรจุภัณฑ์ได้ไม่มากก็น้อย


บริเวณบ้านหลังน้อย ของ ผู้ใหญ่โบ๊ท ผู้ใหญ่บ้านแหลมสน หมู่ 2



หนุ่มช่างภาพขาลุย Big Stopper Photographer ซดน้ำมะพร้าวสดๆจากต้นหน้าบ้านผู้ใหญ่โบ๊ท

จากการหารือเรื่องสถานที่ หาหอยคราง เราได้รับแจ้งจากผู้ใหญ่โบ๊ทว่า ช่างเย็นที่อ่าวนิดน้ำขึ้นทำให้การหาหอยครางได้ยาก แต่ภารกิจของเราต้องดำเนินต่อ พวกเราเลยตกลงกันว่า ที่อ่าวบ้านล่าง หน้าบ้านผู้ใหญ่โบ๊ท น่าจะมีหอยคราง และหอยอูฐ อยู่บ้าง
เย็นนี้หลังพระอาทิตย์ตก เราปั่นจักรยานมาที่บ้านผู้ใหญ่โบ๊ทอีกครั้ง เพื่อลงทะเลไปเดินหาหอยคราง ที่อ่าวบ้านล่างกัน และเราจะได้ลิ้มรสแกงกะทิหอยครางใส่ใบชะพลูริมทาง ที่ผู้ใหญ๋โบ๊ท นำเสนอไว้ด้วย

ปั่นมานั่งกินกาแฟชิวๆ...ที่ Sweetcake ทางขึ้นท่าเรืออ่าวนิด

เราออกจากบ้านผู้ใหญ่ ปั่นผ่านสวนยาง ตามเส้นทางลูกรังที่สร้างใหม่ ความร้อนของแสงแดดและเนินสูง ไม่ได้ทำให้เราหมดสนุกกับการปั่น แต่กับเพิ่มดีกรี ความมันส์ ให้กับทีมชายหนุ่ม Cycling Island เป็นอย่างมาก เกียร์ เบา เกียร์หนักถูกเราทดสอบใช้หมด...มันเป็นความร้อนที่รู้สึกสดชื่น เป็นความเหนื่อยที่รู้สึกสนุก สวนยาง สวนมะพร้าว และวิถีผู้คน บนเกาะหมากทำให้ผมรู้สึกอย่างนั้น
ทีมชายหนุ่ม Cycling Island ได้มานั่งพักอีกครั้ง ที่ร้าน Sweetcake บริเวณท่าเรืออ่าวนิด กาแฟเอสเปสโซ่ หอมกรุ่นไร้น้ำตาลจิบแรกถูกกลืนลงคอที่แห้งผาก คาเฟอีนช่วยไปกระตุ้น ความเมื่อยล้า ให้เกิดความกะปรี้กะเปร่าอีกครั้ง
เสียงเพลงเบาๆ ที่เปิดจากพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ชาร์ตเก็บไว้ในแบ๊ตเตอรี่ ถูกนำมาใช้ขับกล่อม เพิ่มความสุนทรีให้กับลูกค้า ที่มานั่งจิบกาแฟ สั่งอาหารที่ร้านน่ารักๆ หน้าท่าเรืออ่าวนิดแห่งนี้
ไม่ห่างจากร้านเรามองทางสวนมะพร้าวข้างวัดเกาะหมากเห็นรูปปั่น หญิงสาวกับท่าทางแปลกๆ เลยสอบถามพี่อึ่ง แห่งร้าน Sweetcake ได้รับคำตอบว่า เป็นงานปั้นของชาวมอญ ที่มาอาศัยอยู่บนเกาะหมาก ซึ่งพี่อึ่ง ให้มาช่วยปั่นวิถีของชาวเกาะหมากที่กำลังสอยมะพร้าว และปลอกมะพร้าว เพื่อเอาไว้ดูเพราะวิถีเหล่านี้กำลังจะหายไปจากเกาะหมากแล้ว

รูปปั่นหญิงสาว สอยมะพร้าว และปลอกมะพร้าว ใกล้ร้าน Sweetcake ท่าเรืออ่าวนิด



มองจากร้าน Sweetcake จะเห็นท่าเรืออ่าวนิด

ในท้องทะเลรอบๆ เกาะหมาก ยังคงมีความอุดมสมบูรณ์ ที่ท่าเรืออ่าวนิด เรามักจะเห็นพรานเบ็ดออกไปตกปลากันมาก ผมสอบถามพรานเบ็ด ได้รับคำตอบว่า มีปลาหลากหลายชนิด ที่วนเวียนมาติดเบ็ด และบ่อยครั้งที่ตกได้ปลาสาก หรือ ปลาน้ำดอกไม้ บริเวณท่าเรือแห่งนี้ นั้นหมายถึงว่า สภาพแวดล้อมของท้องทะเลแห่งนี้ยังสะอาดคงความสมบูรณ์ ทำให้การหากินได้ง่าย ชาวบ้านไม่ต้องพึ่งการสั่งปลา สั่งอาหารจากฝั่งเพื่อเพิ่มภาระการขนส่งเข้ามายัง เกาะหมากแห่งนี้

พรานเบ็ดที่ท่าเรืออ่าวนิด

แสงเย็น...ท่าเรืออ่าวนิด

ชมพระอาทิตย์ตกที่...บานาน่า ซันเซ็ท รีสอร์ท

ก่อนถึงเวลาปฎิบัติภารกิจเก็บหอยคราง ที่อ่าวบ้านล่าง เรามีโอกาสปั่นไปชมพระอาทิตย์ตก ที่ บานาน่า ซันเซ็ท รีสอร์ท ด้วยการอาสานำทางของน้องจ๋า ชาวบ้านเกาะหมาก ที่นี่เป็นอีกมุมที่สวยงามบน เกาะหมาก ที่สามารถมองเห็นพระอาทิตย์ตกลงตรงกลางระหว่างเกาะระยั้งใน และเกาะระยั้งนอก
ด้วยเวลาชมความงามที่น้อยนิดเพราะมีภารกิจหาหอยครางรออยู่ที่อ่าวบ้านล่าง เราจึงทิ้งความงามของแสงสุดท้ายไว้ที่ บานาน่า ซันเซ็ท รีสอร์ท

สะพานไม้บริเวณ บานาน่า ซันเซ็ท รีสอร์ท ยามอาทิตย์อัสดง

หาหอยคราง...ที่อ่าวบ้านล่าง
เราปั่นจักรยานฝ่าความมืดลง ไปยังอ่าวบ้านล่างเพื่อทำภารกิจหาหอยครางกับชาวบ้านและผู้ใหญ่โบ๊ท บริเวณอ่าวบ้านล่างมีโขดหินกระจายอยู่ทั่ว เหมาะสำหรับการมาหลบซ่อนตัว หรือหากินของหอยคราง
ด้วยความมืดพวกเรามีไฟฉายติดหัวคนละกระบอก เพื่อใช้ส่องตอนเก็บหอยคราง

หอยคราง เป็นหอยในวงศ์ Arcidae มีลักษณะคล้ายหอยแครง แต่มีขนาดใหญ่กว่า ขอบเปลือกมีลักษณะเป็นรอยหยักเหมือนฟันปลา เปลือกของหอยครางมีลักษณะคล้ายหอยแครง จัดเป็นหอยจำพวกหอยแครง 5 ชนิด ที่พบได้ในน่านน้ำไทย เปลือกหอยครางมีขนาดประมาณ 1.5-2 นิ้ว และเปลือกทั้ง 2 ข้างมีขนาดเล็ก-ใหญ่ไม่เท่ากัน
หอยครางอาศัยตามแนวปะการังค่อนข้างลึก ซึ่งไม่เหมือนกับหอยแครงที่อาศัยอยู่ตามดินโคลน ซึ่งบางครั้งจะพบทรายหรือทรายปนโคลนปะปนอยู่ในเปลือกหอยด้านในด้วย หอยครางจะพบในแถบจังหวัดตราด เพชรบุรี ภูเก็ต และสงขลา

โดยมากแล้วชาวบ้านมักจะจับหอยครางได้ในช่วงเวลาที่น้ำทะเลแห้ง จนกระทั่งหาดเลนที่หอยอาศัยอยู่มันโผล่ขึ้นมาหรือมีระดับน้ำปริ่ม
หอยครางจึงเป็นหอยที่นิยมบริโภคกันเฉพาะในท้องถิ่น ซึ่งเนื้อของหอยครางจะเหนียวกว่าหอยแครง นิยมนำไปลวกเหมือนหอยแครง แต่วันนี้ เราจะนำเนื้อหอยคราง มาแกงใส่ใบชะพลู
เราหาหอยครางได้หลายตัว แล้วยังแถมด้วยหอยอูฐ ซึ่งผู้ใหญ่โบ๊ทบอกกับเราว่า หากินหอยอูฐ นี้ยากมาก แต่สำหรับรอบเกาะหมากแล้วยังอุดมสมบูรณ์
เมนูมื้อนั้นเราได้ลิ้มรสหอยครางจากฝีมือชาวบ้าน เกาะหมาก แท้ๆ คือแกงหอยครางใส่ใบชะพลู และหอยอูฐ ลวกจิ้มน้ำซีฟู๊ด หรือที่ชาวเกาะหมากเรียกน้ำพริกเกลือ  อร่อยจนลืม อาหารจากเหลาราคาแพงๆไปเลย
คลิ๊กชมคลิปภารกิจ การหาหอยคราง...สร้างความสัมพันธ์กับชาวบ้านที่ลิ้งค์ด้านล่างนี้ครับ
 https://www.facebook.com/lcd.chang.mak.kood/videos/1156562414378445/

https://www.facebook.com/lcd.chang.mak.kood/videos/1156577004376986/


สิ่งที่ได้มากกว่าความสวยงามที่ปลายทาง คือความงดงามของมิตรภาพระหว่างทางต่างหาก


ขอขอบคุณ
องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท
ที่จัดทำโครงการดีๆ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม Castaway @ Low Carbon Island ครับผม
ขอบขอบคุณภาพสวยๆหลายๆภาพ จากฝีมือ...น้องต๊อบ อพท.
ขอขอบคุณ... ชาวบ้านอ่าวตาโล่ง กับมิตรไมตรีที่หยิบยื่นให้ ที่มนักปั่นชายหนุ่ม
ขอขอบคุณ...ผู้ใหญ่โบ๊ท และครอบครัว ที่ทำเมนูหอยคราง หอยอูฐ ให้เราทาน และยังพาเราปั่นจักรยานเที่ยวชมเกาะอีกด้วย

นี่เป็นเพียงตอนแรกของเรื่องราว..."ขี่เสือตลุย...ปั่นเที่ยวเกาะหมาก...ในสไตล์โลว์คาร์บอน"

คอยติดตามตอนต่อไปครับ 

 

 

)

ปั่นจักรยาน - Hui United


ไม่มีความคิดเห็น:

แกลอรี่รูปภาพTiewZogZag